ฝ่ายวิสาหกิจและสังคมยั่งยืน มข. และ คณะเทคโนโลยี มข. ร่วมภาคีเครือข่าย ขับเคลื่อนการพัฒนาทุนมนุษย์และเศรษฐกิจในนิคมสร้างตนเอง

เมื่อวันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2568   ฝ่ายวิสาหกิจและสังคมยั่งยืน มข. ร่วมกับ คณะเทคโนโลยี มข. นำโดย ศ.ดร.ธิดารัตน์ บุญมาศ รองอธิการบดีฝ่ายวิสาหกิจและสังคมยั่งยืน พร้อมด้วย ผศ.อารยา เชาว์เรืองฤทธิ์ คณบดีคณะเทคโนโลยี พร้อม ผศ.หยาดรุ้ง มะวงศ์ไว ผู้ช่วยคณบดีฝ่ายบริการวิชาการและสื่อสารองค์กร คณะเกษตรศาสตร์ และ รศ.เพชรรัตน์ ธรรมพล คณะเกษตรศาสตร์, ผศ.สุกัลยา เชิญขวัญ คณะเกษตรศาสตร์, นางสาววราภรณ์ ผิวพรรณงาม รองผู้อำนวยการศูนย์บริหารเทคโนโลยีและนวัตกรรม เข้าร่วมประชุมขับเคลื่อนการดำเนินงานในการพัฒนาทุนมนุษย์ สร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจ สังคม และส่งเสริมอัตลักษณ์ในนิคมสร้างตนเอง ณ ห้องประชุมพองหนีบโรงไฟฟ้าพลังน้ำภาคตะวันออกเฉียงเหนือ อำเภออุบลรัตน์ จังหวัดขอนแก่น โดยมี นายประจวบ รักแพทย์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดขอนแก่น เป็นประธาน และสำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัดขอนแก่น โดยมี นางสาวฉัฐพร งามเกลี้ยง พัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัดขอนแก่น ในฐานะหน่วยงานเจ้าภาพจัดการประชุมในครั้งนี้ นอกจากนี้ ยังได้รับความร่วมมือจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน วิทยาเขตขอนแก่น ประมงจังหวัดขอนแก่น สำนักงานปฏิรูปที่ดินจังหวัดขอนแก่น องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และผู้นำชุมชน ในการกำหนดแนวทางการพัฒนาพื้นที่นิคมสร้างตนเองให้เติบโตอย่างยั่งยืน การดำเนินงานในครั้งนี้ไม่ได้มุ่งเน้นเพียงการพัฒนาศักยภาพของบุคคลเท่านั้น แต่ยังเป็นการขยายโอกาสทางเศรษฐกิจและสังคมให้กับประชาชนในพื้นที่นิคมสร้างตนเอง มหาวิทยาลัยขอนแก่นมุ่งหวังว่าโครงการดังกล่าวจะเป็นรากฐานสำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากให้เติบโตอย่างเข้มแข็งและยั่งยืน ซึ่งจะเป็นต้นแบบให้กับพื้นที่อื่น ๆ ในอนาคต การร่วมมือระหว่างสถาบันการศึกษา หน่วยงานภาครัฐ และภาคประชาสังคม ถือเป็นปัจจัยสำคัญที่ช่วยขับเคลื่อนการพัฒนาสังคมอย่างเป็นระบบและยั่งยืน “มหาวิทยาลัยขอนแก่นมุ่งมั่นในการพัฒนาชุมชนอย่างยั่งยืน ด้วยการสร้างรากฐานเศรษฐกิจฐานรากที่แข็งแกร่ง และเป็นต้นแบบให้กับชุมชนอื่น ๆ ในการพัฒนาอย่างมีประสิทธิภาพในอนาคต” โดยสอดคล้องกับพันธกิจคณะเทคโนโลยี ผลิตผลงานวิจัยแบบบูรณาการ คุณภาพสูง ต่อยอดนวัตกรรมสู่สังคม ผลักดันงานวิจัยพัฒนาสังคมอย่างยั่งยืน เชื่อมโยง SDGs/BCG บริการวิชาการและนวัตกรรมสู่สังคม สำรวจความต้องการของชุมชน (Demands) และผลักดันนวัตกรรมเชิงพาณิชย์ ถ่ายทอดความรู้สู่ชุมชน: จัดอบรม บริการวิชาการ และหลักสูตรการเรียนรู้ตลอดชีวิต ขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมฐานรากด้วยเศรษฐกิจ BCG