สาขาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีการประกอบอาหาร

Culinary Science and Technology

สาขาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีการประกอบอาหาร

หลักสูตรวิทยาศาสตรบัณฑิต สาขาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีการประกอบอาหาร (หลักสูตรใหม่ พ.ศ. 2567)  ถูกพัฒนาเพื่อผลิตนักเทคโนโลยีการประกอบอาหารเพื่อให้ตรงกับความต้องการของตลาดงาน ซึ่งจะเป็นกำลังสำคัญต่อการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ บัณฑิตมีทักษะในการประกอบอาชีพอย่างรู้เท่าทันต่อการเปลี่ยนแปลงขององค์ความรู้และเทคโนโลยีสมัยใหม่และทันต่อความเป็นไปของกระแสโลก  มีความสามารถในการปรับตัวเรียนรู้เทคโนโลยีใหม่ทั้งทางด้านทฤษฎีและปฏิบัติในการประกอบอาหาร การออกแบบอาหารต้นแบบ  สร้างสรรค์อาหารนวัตกรรม  เข้าใจการเปลี่ยนแปลงคุณภาพของอาหาร และสามารถขยายการผลิตสู่การผลิตอาหารขนาดใหญ่ที่มีคุณภาพสม่ำเสมอ  รวมทั้งเสริมสร้างทักษะทางด้านธุรกิจบริการของผู้ประกอบการและผู้ที่ปฏิบัติงานในธุรกิจอาหารภายใต้บริบทของสังคมพหุวัฒนธรรมได้  โดยตระหนักถึงคุณธรรม จริยธรรม และจรรยาบรรณ  มีค่านิยมที่ดี มีความรับผิดชอบต่อสังคม เป็นบัณฑิตที่พร้อมทำงาน เพื่อรองรับการเข้าสู่ตลาดแรงงานทั้งในประเทศและต่างประเทศ 

ปรัชญา ความสำคัญของหลักสูตร

หลักสูตรวิทยาศาสตร์บัณฑิต (วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีการประกอบอาหาร) มหาวิทยาลัยขอนแก่น มุ่งเน้นการผลิตบัณฑิตที่เป็นนักเทคโนโลยีการประกอบอาหาร (chef technologist) ที่มีความรู้และทักษะในศาสตร์การประกอบอาหาร การออกแบบและสร้างสรรค์อาหารนวัตกรรม โดยเฉพาะอาหารไทย สามารถบูรณาการความรู้และทักษะทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีการอาหาร ศิลปะการประกอบอาหาร และศาสตร์ที่เกี่ยวข้อง และประยุกต์ใช้องค์ความรู้อย่างเหมาะสมกับสภาพบริบททางเศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม และภูมิปัญญาในระดับภูมิภาคและระดับนานาชาติ  โดยการจัดการเรียนการสอนในหลักสูตรมีความสอดคล้องกับการปรับเปลี่ยนการศึกษา มีการจัดการศึกษาแบบมุ่งเน้นผลลัพธ์ (Outcome – based Education, OBE)  ผ่านการปฏิบัติจริงทั้งในและนอกห้องเรียน  เป็นการสอนเน้นการเรียนรู้ (Learning paradigm) และใช้วิธีการสอนหลายรูปแบบ เช่น ห้องเรียนกลับด้าน (Flipped Classroom) การเรียนรู้จากการปฏิบัติจริง (Experiential Learning) ให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้ มีความรู้ มีทักษะ และความเชี่ยวชาญ ตอบสนองความต้องการของผู้ใช้บัณฑิตเป็นไปตามวัตถุประสงค์ของหลักสูตร และตอบสนองต่อการพัฒนาและขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศได้

วัตถุประสงค์

หลักสูตรวิทยาศาสตรบัณฑิต สาขาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีการประกอบอาหาร (หลักสูตรใหม่ พ.ศ. 2567) มีวัตถุประสงค์เพื่อผลิตนักเทคโนโลยีการประกอบอาหาร (Chef Technologist) ที่มีคุณสมบัติดังนี้  

(1)  มีความรู้และทักษะในการประกอบวิชาชีพด้านการประกอบอาหารโดยเฉพาะอาหารไทย ในสถานที่ผลิตและให้บริการอาหารที่หลากหลาย และในหน่วยงานต่างๆ ทั้งในประเทศและต่างประเทศ 
(2)  สามารถประยุกต์ใช้ความรู้และทักษะด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีการประกอบอาหาร และศาสตร์ที่เกี่ยวข้องในการสร้างสรรค์อาหารนวัตกรรม ออกแบบและนำเสนออาหาร และสามารถขยายการผลิตสู่การผลิตขนาดใหญ่ได้โดยมีความปลอดภัย มีคุณภาพสม่ำเสมอ และเป็นไปตามข้อกำหนดหรือมาตรฐานที่เกี่ยวข้อง
(3)  สามารถบูรณาการความรู้และทักษะด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีการประกอบอาหาร ในการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ และสานต่อวัฒนธรรมอาหารไทยให้มีความยั่งยืนและเป็นที่รู้จักในระดับสากล
(4)  มีทัศนคติที่ดี มีคุณธรรม จริยธรรม และจรรยาบรรณของการทำงานเป็นนักเทคโนโลยีการประกอบอาหาร
(5)  มีความสามารถในการทำงานเป็นทีม สื่อสารได้ในระดับสากล และค้นคว้าหาความรู้เพิ่มเติมเพื่อพัฒนาความก้าวหน้าในวิชาชีพได้อย่างต่อเนื่อง


สาขาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีการประกอบอาหาร เปิดสอนในหลักสูตรต่างๆ

โครงสร้างหลักสูตร รายวิชา และหน่วยกิต

โครงสร้างหลักสูตร 
จำนวนหน่วยกิต  รวมตลอดหลักสูตร ไม่น้อยกว่า 129 หน่วยกิต

อาชีพที่สามารถประกอบได้หลังจบการศึกษา

บัณฑิตที่สำเร็จการศึกษาจากหลักสูตร เป็นนักเทคโนโลยีการประกอบอาหาร (chef technologist) โดยเฉพาะอาหารไทย ซึ่งสามารถประยุกต์ใช้ความรู้และทักษะด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีการอาหารพื้นฐานและศาสตร์อื่นๆที่เกี่ยวข้องสำหรับการทำงานในธุรกิจอาหาร สถานที่ผลิตและ/หรือให้บริการอาหารขนาดใหญ่    และสถานที่เฉพาะ เช่น ครัวสายการบิน เรือสำราญ โรงแรม สถานศึกษา โรงพยาบาล หน่วยงานต่างๆ ทั้งในประเทศและต่างประเทศ นอกจากนี้ยังเป็นนักเทคโนโลยีการประกอบอาหารที่สามารถออกแบบอาหาร (food stylist)  และสร้างนวัตกรรมของตำรับอาหาร ผลิตภัณฑ์อาหาร ทักษะการประกอบอาหาร และส่วนผสมอาหาร (food ingredient) ได้  

ช่องทางติดต่อเพิ่มเติม >>