แผ่นดินไหวสะเทือนขอนแก่นในรอบ 21 ปี นักวิชาการ มข.มองอนาคตความเสี่ยงผ่านมุมธรณีวิทยา พร้อมแนะ 4 วิธีสังเกตแผ่นดินไหว
แผ่นดินไหวขนาด 7.7 แมกนิจูดในประเทศเมียนมา แรงสั่นสะเทือนบางส่วนรับรู้ได้ถึงประเทศไทย รวมถึงในพื้นที่จังหวัดขอนแก่น โดยเฉพาะภายในอาคารสูงของมหาวิทยาลัยขอนแก่น เมื่อวันที่ 28 มีนาคมที่ผ่านมา สร้างความตระหนักเกี่ยวกับ “แผ่นดินไหว” ว่าเป็นภัยพิบัติที่ไม่ได้อยู่ไกลตัวอีกต่อไป เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นได้อย่างไร และในอนาคตยังจะมีความเสี่ยงอีกไหม ชวนมองผ่านมุมนักวิชาการด้านธรณีวิทยา มหาวิทยาลัยขอนแก่น “Supershear Earthquake” ปรากฏการณ์แผ่นดินไหวรุนแรงส่งผลไกลถึงไทย ผศ.ดร.เกียรติศักดิ์ ศรภิรมย์ หัวหน้าสาขาวิชาเทคโนโลยีธรณี คณะเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยขอนแก่น อธิบายเกี่ยวกับประเด็นนี้ว่า แผ่นดินไหวครั้งนี้ มีสาเหตุหลักน่าจะมาจาก Supershear Earthquake (การแยกของแผ่นดินที่เร็วกว่าปกติ) ซึ่งเป็นผลมาจากรอยเลื่อนสะกายที่เคลื่อนที่แบบ Right-lateral Strike-Slip Fault ที่ประเทศเมียนมา ทำให้คลื่นไหวสะเทือน (Seismic wave) เคลื่อนผ่านชั้นดินมายังประเทศไทย ส่งผลให้ภาคเหนืออย่างเชียงใหม่และพื้นที่กรุงเทพฯ รับรู้แรงสั่นไหวได้ชัดเจน สำหรับจังหวัดขอนแก่น แม้จะอยู่ห่างจากจุดศูนย์กลาง แต่ด้วยลักษณะของชั้นดินใต้ผิวโลกที่เป็นชั้นหินที่ไม่แข็งแรงมากนัก เช่น หมวดหินภูทอกและหมวดหินมหาสารคาม ซึ่งประกอบด้วยหินตะกอนเนื้อละเอียดและเกลือที่สามารถผุพังให้ดินเหนียว ทำให้คลื่นไหวสะเทือนขยายตัวและส่งผลกระทบอย่างชัดเจนต่ออาคารสูง โดยเฉพาะอาคารภายในมหาวิทยาลัยขอนแก่นที่รู้สึกถึงแรงสั่นอย่างเด่นชัด ระดับความรุนแรงอยู่ที่ระดับ 3 จาก 12 ระดับ ของ Modified Mercalli Intensity (MMI) Scale ผศ.ดร.เกียรติศักดิ์ ยังระบุอีกว่า ก่อนหน้านี้ที่จังหวัดขอนแก่นเคยได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์แผ่นดินไหวเมื่อปี […]