5 มีนาคม 2565 ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.อารยา เชาว์เรืองฤทธิ์ คณบดีคณะเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยขอนแก่นเปิดเผยว่า อาจารย์และนักศึกษา คณะเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยขอนแก่น นำโดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์เกียรติศักดิ์ ศรภิรมย์ และ ดร.สุทธิพงษ์ ทวีลาภ อาจารย์ประจำภาควิชาเทคโนโลยีธรณี มหาวิทยาลัยขอนแก่น ร่วมลงพื้นที่ตรวจสอบภาพเขียนสีโบราณ 2 จุด บริเวณเกิ้งตะขาบ และเกิ้งขาม ซึ่งปรากฏภาพเขียนสีรูปไม้กางเขน ตะขาบ วัวแดง ฝ่ามือ สัญลักษณ์คล้ายแผนที่ แจกัน รูปผู้ชายยื่นดอกไม้ให้ผู้หญิง จั่วบ้าน เป็นต้น โดยภาพที่พบ ไม่สามารถบอกได้ว่า ในยุคนั้น อยู่ในสังคมเกษตรกรรม หรือสังคมเริ่มแรกของการเร่ร่อน เพราะไม่มีภาพบ่งบอกชัดเจน ทั้งนี้มีทีมร่วมลงพื้นที่สำรวจประกอบด้วย นางพิมพ์กานต์ วงษ์ภูดร หัวหน้าวนอุทยานภูหัน-ภูระงำ นำนักโบราณคดี สำนักศิลปากรที่ 8 ขอนแก่น และประชาชนที่สนใจ
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ เกียรติศักดิ์ ศรภิรมย์ กล่าวว่า พื้นที่นี้ส่วนใหญ่อยู่ในหมวดหินโคกกรวด ซึ่งเป็นหนึ่งในกลุ่มหินโคราช อายุราว 140 ล้านปี หรือเออรี่ครีเทเชียส ซึ่งลักษณะพิเศษคือ หินทรายปนกรวด สังเกตเห็นชั้นหินเฉียงระดับชัดเจน จากหลักฐานทางธรณีวิทยา พบว่า เคยเป็นแม่น้ำโบราณมาก่อน แล้วถูกยกตัวขึ้นมา คาดว่า เป็นช่วงเดียวกันกับปรากฎการณ์ชนกันของอนุทวีปอินเดียและยูเรเซีย เกิดเป็นที่ราบสูงทิเบต เทือกเขาหิมาลัย โดยแรงชนส่งผลถึงภาคอีสานบ้านเรา ทำให้ชั้นหินเกิดการยกตัว เป็นรูปประทุนคว่ำ แล้วเกิดการแตกหัก ผุกร่อน เผยให้เห็นโครงสร้างภายในของชั้นหิน ทำให้เรารู้ว่า เกิดจากการสะสมของตะกอนและการพัดพาของแม่น้ำ โดยหมวดหินโคกกรวดนี้ มักเจอซากฟอสซิลไดโนเสาร์ฝังอยู่ด้วย
ขณะที่ นางกุลวดี สมัครไทย นักโบราณคดีชำนาญการ สำนักศิลปากรที่ 8 ขอนแก่น ระบุว่า ภาพเขียนสีแดงอาจมาจากแร่เฮมาไทด์ แต่อาจต้องพิจารณาสภาพภูมิประเทศ ข้อมูลทางธรณีวิทยาประกอบด้วย ซึ่งอาจมีลูกไม้ที่ให้สี ใช้ร่วมกับยางไม้ที่ให้ความเหนียว ปกติสีที่พบ จะมีขาว แดง เหลือง โดยสีแดงพบมากที่สุด จุดนี้ที่พบเป็นภาพธรรมชาติ จำลองรูปสัตว์ คน และมีภาพนามธรรมด้วย ซึ่งเป็นลักษณะของภาพเขียนสีสมัยก่อนประวัติศาสตร์ และอาจจะวัดค่าคาร์บอนจากรังปลวก เพื่อกำหนดอายุแม่นยำยิ่งขึ้น แต่โดยทั่วไปการกำหนดอายุทางโบราณคดี ใช้วิธีการศึกษาเปรียบเทียบก่อน ในกลุ่มภาพเขียนสีด้วยกัน ข้อมูลหลักฐานทางโบราณคดีภาคอีสาน ได้กำหนดอายุประมาณ 2,000-5,000 ปี เบื้องต้นบริเวณโดยรอบ ยังไม่พบเครื่องมือหิน ที่เป็นร่องรอยการเข้ามาใช้พื้นที่ของมนุษย์ จึงน่าจะเป็นพื้นที่ประกอบพิธีกรรม แต่จะให้แน่นอน ต้องมีการสำรวจขุดค้นเพิ่มเติม
ส่วนข้อมูลเชิงบริบท ดินแดนแถบนี้อยู่ลุ่มแม่น้ำชี ซึ่งมีฐานข้อมูลแหล่งโบราณคดีตั้งแต่ก่อนประวัติศาสตร์จำนวนมาก ใกล้ที่สุด คือ แหล่งโบราณคดีเมืองเพีย อำเภอบ้านไผ่ ซึ่งมีคนอาศัยมาตั้งแต่ก่อนประวัติศาสตร์ ต่อเนื่องสมัยทวารวดี และล้านช้าง
ทั้งนี้ ขอนแก่นพบภาพเขียนสีโบราณ 28 แหล่ง มากที่สุดเป็นอันดับ 3 ของประเทศ รองจากอุดรธานี 110 แหล่ง และอุบลราชธานี 48 แหล่งตามลำดับ โดยอุดรธานีพบมากในภูพระบาท แต่ขอนแก่นจะมีความหลากหลายในพื้นที่มากกว่า ทั้งภูเวียง ภูผาม่าน ภูเก้า-ภูพานคำ ถ้ำผาสูง ชุมแพ
นักโบราณคดี และนักธรณีวิทยา วิเคราะห์ร่วมกันว่า จุดที่พบภาพเขียนสีทั่วไป มักมีความสัมพันธ์กับที่ตั้งศาสนสถาน อยู่บนพื้นที่สูง ให้คนพื้นราบสังเกตเห็นได้ ทิศทางเชื่อมโยงกับฤดูกาลทำการเกษตร โดยจุดเลือกเขียนสี มีพื้นผิวเรียบ มีร่มเงา ป้องกันฝนได้ และมีพื้นที่สำหรับการวาด
สำหรับวนอุทยานภูหัน-ภูระงำ มีลักษณะพื้นที่เป็นป่าดิบแล้งเชื่อมป่าเต็งรัง เนื้อที่ 6,240 ไร่ นอกจากภาพเขียนสีโบราณแล้ว ยังพบหินทรายน้อยใหญ่ รูปร่างแปลกตากระจายเต็มพื้นที่ ซึ่งหินทรายที่เป็นประติมากรรมธรรมชาติสร้างสรรค์นี่เอง ที่เป็นจุดเด่นของแหล่งท่องเที่ยวแห่งนี้ โดยรูปทรงต่างๆของหินทราย เกิดจากการกัดเซาะโดยกระแสน้ำหรือกระแสลมเป็นเวลานาน ทำให้ตะกอนมีการเรียงตัวเอียงไปตามทิศทางของกระแสน้ำหรือกระแสลม ซึ่งเป็นแหล่งท่องเที่ยวแห่งใหม่ของอำเภอชนบท จังหวัดขอนแก่น ที่เพิ่งเปิดตัวเมื่อวันที่ 19 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา
ขอขอบคุณข้อมูลจาก : เว็บไซต์มหาวิทยาลัยขอนแก่น และ สำนักข่าวไทย อสมท.