ผศ.ดร. คณิต วิชิตพันธุ์ พร้อมทีม ลงพื้นที่ชุมชน ถ่ายทอดองค์ความรู้ ในโครงการ “การยกระดับคุณภาพ มาตรฐานและความปลอดภัยของผลิตภัณฑ์ปลาส้ม ส้มปลาตอง หรือส้มปลาตัวเพื่อการจำหน่ายเชิงพาณิชย์”

เมื่อ 28 พฤศจิกายน 2564 ที่ผ่านมา คณะเทคโนโลยี มหาวิทยาลับขอนแก่น นำโดย ผศ.ดร. คณิต วิชิตพันธุ์, รศ.ดร. พรเทพ ถนนแก้ว, ผศ.สุกานดา วิชิตพันธุ์, ผศ.ดร. จิรวรรณ อภิรักษากร, และผศ.ดร. ปรีย์กมล กลั่นฤทธิ์ พร้อยด้วยบุคลากร อุทยานวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น สถาบันแม่ข่ายดำเนินงานอุทยานวิทยาศาสตร์ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ลงพื้นที่ติดตามประเมินผลโครงการ “การยกระดับคุณภาพ มาตรฐานและความปลอดภัยของผลิตภัณฑ์ปลาส้ม ส้มปลาตอง หรือส้มปลาตัวเพื่อการจำหน่ายเชิงพาณิชย์ ผลงานการวิจัยของผู้ช่วยศาสตราจารย์คณิต วิชิตพันธุ์ อาจารย์ประจำคณะเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยขอนแก่น หัวหน้าโครงการ และคณะ กิจกรรมถ่ายทอดเทคโนโลยีสู่ชุมชน (Tech transfer to community) ซึ่งมีตัวแทนกลุ่มแม่บ้านตำบลบ้านผือ อ.หนองเรือ จ.ขอนแก่น เข้าร่วม ณ สุขศาลาบ้านหนองผือ อ.หนองเรือ จ.ขอนแก่น

โครงการดังกล่าวได้สำรวจประเมินศักยภาพและความต้องการของชุมชน พบว่า กลุ่มแม่บ้านตำบลบ้านผือ อ.หนองเรือ จ.ขอนแก่น ภูมิประเทศที่อยู่ติดกับเขื่อนอุบลรัตน์ ทำให้ชาวบ้านส่วนใหญ่ประกอบอาชีพทำนา และทำประมงน้ำจืด และประกอบอาชีพเสริมอื่นๆ นอกฤดูกาลทำนา เช่น ปลูกผัก ทอผ้า และรับจ้างทั่วไป โดยสินค้าหรือผลิตภัณฑ์ชุมชน (OTOP) ที่เป็นที่รู้จักและวางขายในท้องถิ่นและชุมชนใกล้เคียง คือ ผลิตภัณฑ์แปรรูปจากปลาน้ำจืด ได้แก่ ปลาส้ม ส้มปลาตอง ส้มปลาตัว และปลาตากแห้ง

จากการสำรวจข้อมูลสถานภาพและศักยภาพของชุมชน ตลอดจนความต้องการในการพัฒนาภายใต้โครงการจ้างงานประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การระบาดโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ระยะที่ 2 ช่วงระหว่างเดือนกรกฎาคมถึงเดือนกันยายน 2563 ที่ผ่านมา พบประเด็นปัญหาที่สำคัญ คือยังขาดองค์ความรู้และเทคโนโลยีที่เหมาะสมในการผลิตสินค้า การควบคุมคุณภาพ มาตรฐาน และความปลอดภัยของสินค้า ขาดองค์ความรู้ในการออกแบบและพัฒนาบรรจุภัณฑ์ รวมทั้งแนวทางการจำหน่ายและการขยายช่องทางการตลาด

จากข้อมูลดังกล่าวอุทยานวิทยาศาสตร์ฯ จึงเชื่อมโยงนักวิจัยที่มีความเชี่ยวชาญ คือ ผู้ช่วยศาสตราจารย์คณิต วิชิตพันธุ์ ซึ่งมีความรู้และประสบการณ์ทำงานวิจัยด้านปลาส้มมาร่วมถ่ายทอดเทคโนโลยี ทั้งยังเชิญผู้เชี่ยวชาญที่มีความรู้ด้านการพัฒนาและออกแบบบรรจุภัณฑ์จากคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ และผู้เชี่ยวชาญด้านการตลาด จากคณะบริหารธุรกิจและการบัญชี มาร่วมเป็นทีมถ่ายทอดองค์ความรู้และประสบการณ์ให้ชุมชนเป้าหมายเพื่อยกระดับคุณภาพและมาตรฐานของสินค้าในชุมชนต่อไป
กิจกรรมการถ่ายทอดเทคโนโลยีสู่ชุมชน (Tech transfer to community) เป็นกิจกรรมในแผนงานส่งเสริมการนำนวัตกรรมไปใช้ประโยชน์ในพื้นที่เพื่อพัฒนาสังคมและชุมชน (Area-based Innovation for Community) ซึ่งได้รับงบประมาณสนับสนุนภายใต้โครงการยกระดับคุณภาพชีวิตและเศรษฐกิจท้องถิ่นในภูมิภาคด้วยองค์ความรู้ภูมิปัญญาและนวัตกรรม เพื่อมุ่งยกระดับผู้ประกอบการในภูมิภาคที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรค COVID-19 นำไปสู่การพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมฐานนวัตกรรมของประเทศไทยต่อไป

 

 

 

 

 

ขอขอบคุณ ภาพและข้อมูลข่าว จาก : https://mgronline.com/local/detail/9640000120472