คณะเทคโนโลยี มข. เข้าร่วมลงนามบันทึกข้อตกลง (MOU) การจัดตั้งและดำเนินงานสถาบันปลาร้าในงาน “สถาบันปลาร้า” ภายในงานอีสานโชว์พราว 2568 (ISAN CREATIVE FESTIVAL หรือ ISANCF2025) เทศกาลอีสานสร้างสรรค์ ซึ่งจัดขึ้นเพื่อขับเคลื่อนยุทธศาสตร์การพัฒนาเศรษฐกิจสร้างสรรค์ของภาคตะวันออกเฉียงเหนือให้ก้าวไกลมากยิ่งขึ้น

เมื่อวันศุกร์ที่ 4 กรกฎาคม พ.ศ. 2568 โดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.อารยา เชาว์เรืองฤทธิ์ คณบดีคณะเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยขอนแก่น ได้เข้าร่วมพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) ในงาน “สถาบันปลาร้า” ภายในงานอีสานโชว์พราว 2568 (ISAN CREATIVE FESTIVAL หรือ ISANCF2025) เทศกาลอีสานสร้างสรรค์ ซึ่งจัดขึ้นเพื่อขับเคลื่อนยุทธศาสตร์การพัฒนาเศรษฐกิจสร้างสรรค์ของภาคตะวันออกเฉียงเหนือให้ก้าวไกลมากยิ่งขึ้น

การจัดงานในครั้งนี้นับเป็นก้าวสำคัญของภูมิภาคอีสาน ในการขยายขอบเขตจากการเน้นเพียง “อาหาร” ไปสู่การขับเคลื่อน “เศรษฐกิจสร้างสรรค์” อย่างเป็นรูปธรรม ภายใต้ความร่วมมือระหว่างสำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดขอนแก่น สำนักงานพาณิชย์จังหวัดขอนแก่น สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์, CEA, หอการค้าภาคตะวันออกเฉียงเหนือ, กระทรวงวัฒนธรรม, จังหวัดขอนแก่น, การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย, หอการค้า ไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย, บริษัท ขอนแก่น อินโนเวชั่น เซ็นเตอร์ จำกัด, Sustainable Brands (SB) Thailand และ บริษัท นิวเจน เอ็นเตอร์เทนเมนท์ตลอดจนพันธมิตรอีกกว่า 16 หน่วยงาน ทั้งภาครัฐและภาคเอกชน เพื่อร่วมลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือในการก่อตั้ง “สถาบันปลาร้า” อย่างเป็นทางการ ภาคีเครือข่ายจึงได้ร่วมประชุมหารือการจัดตั้ง“สถาบันปลาร้า”ภายใต้พันธกิจหลักในการขับเคลื่อนสู่การเป็น ศูนย์กลางด้านการวิจัยและพัฒนา เพื่อส่งเสริม “ปลาร้าไทย” ให้เป็นมรดกภูมิปัญญาท้องถิ่นอย่างมีคุณภาพ พร้อม ยกระดับสู่สากล ผ่านกระบวนการนวัตกรรม วิทยาศาสตร์ เศรษฐกิจสร้างสรรค์ ความร่วมมือของชุมชนในพื้นที่ และ ส่งเสริมเศรษฐกิจฐานรากอย่างยั่งยืน มุ่งเน้นการพัฒนามาตรฐานและคุณภาพด้านสุขอนามัยและความปลอดภัยของ อาหาร เพื่อรองรับความต้องการของตลาดทั้งในประเทศและต่างประเทศ ถ่ายทอดองค์ความรู้ ส่งเสริมด้านการตลาด และช่องทางการจัดจำหน่ายที่สอดคล้องกับพฤติกรรมผู้บริโภคยุคใหม่ 

การลงนามความร่วมมือในครั้งนี้ ถือเป็นก้าวแรกของการยกระดับ “ปลาร้า” จากอาหารพื้นบ้านสู่การพัฒนาสู่มาตรฐานใหม่ที่เน้นความปลอดภัย ลดสารก่อภูมิแพ้ และพร้อมต่อยอดสู่นวัตกรรมอาหารสุขภาพ ด้วยกระบวนการผลิตที่ทันสมัย ได้มาตรฐาน และเป็นที่ยอมรับในระดับสากล อีกทั้งสถาบันปลาร้าดังกล่าวยังจะเป็นศูนย์กลางสำคัญในการพลิกโฉมตลาดปลาร้า ซึ่งมีมูลค่ากว่า 10,000 ล้านบาทต่อปี ให้กลายเป็นกลไกขับเคลื่อนทางเศรษฐกิจที่สำคัญของภูมิภาคและประเทศ ผ่านการสร้างมูลค่าเพิ่มจาก “รสชาติแห่งวัฒนธรรมอีสาน” ที่ฝังอยู่ในอาหาร วิถีชีวิต และความภาคภูมิใจของประชาชนในภูมิภาคอิสาน