เมื่อวันศุกร์ที่ 27 มิถุนายน พ.ศ. 2568 ณ ห้องเฟื่องฟ้า คณะเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยขอนแก่น จัด “โครงการแข่งขันนวัตกรรมและเทคโนโลยีการผลิตอาหารสัตว์เลี้ยงจากแมลงโปรตีน BSF (Black Soldier Fly)” โดยความร่วมมือระหว่างคณะเทคโนโลยี คณะเกษตรศาสตร์ คณะสัตวแพทยศาสตร์ และบริษัท ซีพี แอ็กซ์ตร้า จำกัด (มหาชน) เพื่อขับเคลื่อนแนวคิด Zero Food Waste สู่การพัฒนานวัตกรรมที่ยั่งยืน โดยได้รับเกียรติจากศาสตราจารย์ ดร.ธิดารัตน์ บุญมาศ รองอธิการบดีฝ่ายวิสาหกิจและสังคมยั่งยืน เป็นประธานเปิดงาน ร่วมด้วย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.อารยา เชาว์เรืองฤทธิ์ คณบดีคณะเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยขอนแก่น กล่าวรายงานและ คุณศิริพร เดชสิงห์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร สายงานความยั่งยืนและสื่อสารองค์กร บริษัท ซีพี แอ็กซ์ตร้า จำกัด (มหาชน) พร้อมทั้งอาจารย์ นักศึกษา และบุคลากรเข้าร่วมงานอย่างคับคั่ง

ศาสตราจารย์ ดร.ธิดารัตน์ บุญมาศ กล่าวว่า โครงการนี้เป็นความร่วมมือข้ามสาขาที่สะท้อนบทบาทของมหาวิทยาลัยในการขับเคลื่อนนวัตกรรมแก้ไขปัญหาขยะอาหาร ซึ่งเป็นสัดส่วนกว่า 64% ของขยะในประเทศ ตอบโจทย์วิกฤตสิ่งแวดล้อมและความมั่นคงทางอาหารของประเทศ โดยโครงการนี้ไม่เพียงสะท้อนบทบาทของมหาวิทยาลัยในการขับเคลื่อน นวัตกรรมเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืนถือเป็นต้นแบบของการสร้างสรรค์นวัตกรรมที่ตอบสนองต่อปัญหาสังคมอย่างเป็นรูปธรรม พร้อมต่อยอดเป็นผลิตภัณฑ์เชิงพาณิชย์ที่สร้างมูลค่าให้ชุมชนและประเทศต่อไป

ด้านผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.อารยา เชาว์เรืองฤทธิ์ คณบดีคณะเทคโนโลยี กล่าวว่า จุดมุ่งหมายของโครงการนี้ไม่เพียงแต่สร้างนวัตกรรมอาหารสัตว์ แต่ยังเป็นการบ่มเพาะนักศึกษาสู่การเป็น “นักนวัตกร” ที่สามารถประยุกต์ใช้องค์ความรู้สู่ผลิตภัณฑ์ที่ตอบโจทย์ตลาดจริง พร้อมเชื่อมโยงภาคเอกชนเพื่อขยายผลในระดับอุตสาหกรรม

คุณศิริพร เดชสิงห์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร – สายงานความยั่งยืนและสื่อสารองค์กร บริษัท ซีพี แอ็กซ์ตร้า จำกัด (มหาชน) ได้กล่าวถึงที่มาของความร่วมมือและสนับสนุนกิจกรรมในครั้งนี้ พร้อมยืนยันความมุ่งมั่นของบริษัทในการสนับสนุนโครงการที่ส่งเสริมเศรษฐกิจหมุนเวียนและสิ่งแวดล้อม

โดยกิจกรรมประกอบด้วยการแข่งขันนำเสนอผลงานจากนักศึกษาทั้งหมด 8 ทีม จาก 4 คณะ ได้แก่ คณะเทคโนโลยี คณะวิทยาศาสตร์ คณะสัตวแพทยศาสตร์ และคณะเทคนิคการแพทย์ ซึ่งมีการบรรยายแนวคิด พร้อมการทดสอบผลิตภัณฑ์กับสัตว์เลี้ยงจริง รวมถึงการเสวนาจากผู้เชี่ยวชาญจากภาคเอกชนและมหาวิทยาลัย อาทิ คุณนุชกัญญา ลิ้มสุวัฒนา จากศิวะพณ ฟาร์ม คุณเปรม ทรัพย์บุญเลิศมา บริษัท ซีพี แอ็กซ์ตร้า จำกัด (มหาชน) ดร.นัฐวงค์ เฟื่องไพบูลย์ คณะเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยขอนแก่น เป็นต้น
คุณศิริพร เดชสิงห์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร – สายงานความยั่งยืนและสื่อสารองค์กร บริษัท ซีพี แอ็กซ์ตร้า จำกัด (มหาชน) ได้ให้เกียรติมอบรางวัล และกล่าวชื่นชมความสามารถของนักศึกษา
โดยทีมที่คว้ารางวัลชนะเลิศ ได้แก่

ทีม Good gurl จากคณะเทคโนโลยี x คณะเทคนิคการแพทย์ รับเงินรางวัล 10,000 บาท พร้อมโล่เกียรติยศ
รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 ทีม BuzzFrost จากคณะเทคโนโลยี
รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 2 ทีม NOPO-mummum จากคณะเทคโนโลยี
ทีม Good Gurl ทีมชนะเลิศ ได้กล่าวถึงประสบการณ์ในครั้งนี้ว่า “รู้สึกดีใจและเป็นเกียรติอย่างยิ่งที่ได้รับรางวัลชนะเลิศในครั้งนี้ค่ะ พวกเราทุกคนภาคภูมิใจมาก เพราะได้ทุ่มเทแรงกายแรงใจอย่างเต็มที่ตลอดการแข่งขัน แม้จะต้องเผชิญกับอุปสรรคหลายอย่าง แต่ทีมของเราก็ไม่ย่อท้อ และร่วมแรงร่วมใจกันฝ่าฟันทุกปัญหาอย่างสุดความสามารถจริงๆค่ะ”
เกี่ยวกับแนวคิดของผลิตภัณฑ์
“ความจริงแล้ว ไอเดียแรกเริ่มของเราคือการพัฒนานมโปรตีนทางเลือกจาก BSF (Black Soldier Fly) แต่เมื่อทดลองในกระบวนการผลิตจริง กลับพบปัญหาหลายด้าน โดยเฉพาะในเรื่องการละลายของโปรตีน เนื้อสัมผัสและการคงตัวของผลิตภัณฑ์ จึงมีการประชุมทีมเพื่อทบทวนและปรับแนวทางใหม่ จนกระทั่งได้แนวคิดที่ลงตัวและสอดคล้องกับข้อจำกัดมากขึ้น กลายมาเป็น ‘BSmoothie’ – สมูตตี้เนื้อมูสสำหรับสุนัข ที่มีคุณค่าและปลอดภัย เหมาะสำหรับสัตว์เลี้ยง”
แนวทางการต่อยอดในอนาคต
“ในอนาคต เราวางแผนจะพัฒนาผลิตภัณฑ์ต่อให้สมบูรณ์ยิ่งขึ้น ทั้งในด้านการวิเคราะห์คุณค่าทางโภชนาการให้ครบถ้วน การยื่นขอรับรองจากสำนักงาน อย. รวมถึงการสร้างแบรนด์และตัวตนผ่านช่องทางออนไลน์ เช่น TikTok, Instagram และ Facebook โดยมีแผนจะร่วมมือกับอินฟลูเอนเซอร์สัตว์เลี้ยงที่กำลังได้รับความนิยม เพื่อเพิ่มการเข้าถึงกลุ่มเป้าหมาย และจะมีการออกบูธในงานแสดงสินค้าที่เกี่ยวกับสัตว์เลี้ยง เช่น Pet Expo เพื่อให้แบรนด์เป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวางมากขึ้น”
อุปสรรคที่พบระหว่างทาง
“ตลอดเส้นทางการพัฒนาผลิตภัณฑ์ เราพบกับอุปสรรคหลายด้าน เริ่มตั้งแต่แนวคิดเริ่มต้นที่ไม่สามารถนำไปปฏิบัติจริงได้ ไปจนถึงปัญหาในกระบวนการผลิต เช่น ผลิตภัณฑ์เน่าเสียจากการฆ่าเชื้อที่ไม่สมบูรณ์ อย่างไรก็ตาม ทุกคนในทีมก็ไม่ยอมแพ้ และช่วยกันคิดหาวิธีแก้ไขปัญหาจนสามารถส่งผลงานที่สมบูรณ์ได้สำเร็จ
สุดท้ายนี้ พวกเราขอขอบคุณอาจารย์ที่ปรึกษาสำหรับคำแนะนำอันมีค่า พี่ๆ นักวิทยาศาสตร์ที่ให้การสนับสนุนด้านเทคนิค และขอขอบคุณคุณน้าร้านกล้วยปิ้ง ที่กรุณามอบเปลือกกล้วยให้เรานำไปใช้เป็นวัตถุดิบในผลิตภัณฑ์ด้วยค่ะ ความร่วมมือจากทุกภาคส่วนนี้เอง ที่ทำให้ทีมของเราก้าวผ่านทุกอุปสรรค และประสบความสำเร็จในครั้งนี้ได้” —- ทีม Good Gurl

ทีม BuzzFrost รองชนะเลิศอันดับ 1 ได้ให้สัมภาษณ์ว่า “ทีมเราได้แรงบันดาลใจมาจากเรื่องราวส่วนตัว มีน้องหมาที่บ้านอยู่แล้วค่ะ น้องชอบกินไอติมหรือของเย็น ๆ มาก ตอนแรกคิดว่าจะทำเป็นพวกอาหารเปียกแต่รู้สึกว่าการแข่งขันในท้องตลาดค่อนข้างสูง สมาชิกเลยมองไปแนวเดียวกันว่าตลาดไอศกรีมสุนัขยังเป็นอะไรที่ใหม่ คนทำน้อย ยิ่งถ้าเสริมโปรตีนทางเลือกยังไม่เคยมีใครทำ เลยคิดว่าน่าจะเป็นทางเลือกที่ดีในการลองทำเพื่อเพิ่มทางเลือกใหม่ ๆ ให้กับน้องหมา และเจ้าของน้องค่ะ และเรารู้สึกดีที่ได้รับโอกาสพัฒนาศักยภาพของตัวเองและทีมในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ ซึ่งเป็นความท้าทาย โดยเฉพาะวัตถุดิบที่เราไม่เคยได้ทำความรู้จักมาก่อน ทำให้มีโอกาสได้ศึกษาทำความเข้าใจ และรับรู้ว่าโปรตีน BSF มีประโยชน์มากมายขนาดนี้ อยากขอบคุณหน่วยงานทุกส่วนที่มีความเกี่ยวข้องในกิจกรรมครั้งนี้ค่ะ
แผนในอนาคต
“จะเพิ่มช่องทางในการขายจากออนไลน์เป็นการออกบูธตามงานต่างๆ เพื่อให้คนรู้จักมากขึ้น เช่น pet expo หรือไม่ก็ส่งสินค้าไปให้อินฟลูที่เค้าเลี้ยงสุนัขลองทาน เช่น บ้านกลูต้าสตอรี่ Japan and friends เป็นต้น เพื่อเป็นการ PR สินค้าในตัวค่ะ”
อุปสรรคที่เจอ
“เป็นในเรื่องของการจัดการวัตถุดิบซึ่งก็คือโปรตีนแมลง BSF ที่มีกลิ่นเฉพาะตัวและค่อนข้างแรงทำให้ผลิตภัณฑ์มีกลิ่นแรง ซึ่งมีผลกับการกินของสุนัข ทีมจึงได้มีการแก้ไขโดยการปรับสูตรหรือปรับสัดส่วนโปรตีนแมลงที่จะไม่ส่งผลต่อกลิ่นของผลิตภัณฑ์และยังมีปริมาณโปรตีนที่ได้รับอย่างเหมาะสมค่ะ” —- ทีม BuzzFrost

ทีม NOPO-mummum รองชนะเลิศอันดับ 2 กล่าวถึงความรู้สึกว่า “รู้สึกดีใจและตื่นเต้นมากที่ได้ร่วมการแข่งขัน Pet Food Contest 2025 เพราะเป็นความท้าทายใหม่ที่เปิดโอกาสให้เราได้เรียนรู้การพัฒนาอาหารสัตว์เลี้ยง ซึ่งต่างจากการทำอาหารสำหรับคนที่เราคุ้นเคยค่ะ แม้ช่วงแรกจะกังวล แต่สุดท้ายกลายเป็นประสบการณ์ที่ได้ทั้งเรียนรู้และพัฒนาไอเดียอย่างสร้างสรรค์ พวกเราต้องขอขอบคุณทางซีพีเอ็กตร้าและคณะฯ ที่จัดเวทีดี ๆ แบบนี้ขึ้นค่ะ”
ไอเดียในการออกแบบผลิตภัณฑ์
“เราออกแบบเป็น “อาหารเปียกสุนัขเกรดพรีเมียม” จากปัญหาจริงของคนเลี้ยงสัตว์ในพื้นที่จำกัด เช่น หอพักหรือคอนโด โดยใช้สมุนไพรไทยร่วมกับโปรตีนทางเลือกจากแมลง BSF ที่ย่อยง่ายและมีคุณค่าทางโภชนาการสูง เพื่อตอบโจทย์ทั้งสุขภาพสัตว์เลี้ยงและไลฟ์สไตล์ของคนรุ่นใหม่มากที่สุดค่ะ”
แนวทางการต่อยอด
“พวกเราวางแผนพัฒนาสูตรเฉพาะสำหรับแต่ละช่วงวัยหรือสัตว์ที่มีปัญหาสุขภาพ รวมถึงขยายไลน์ไปสู่ผลิตภัณฑ์แมว และออกแบบบรรจุภัณฑ์ให้สะดวกต่อการใช้งานมากขึ้น ทั้งยังสามารถต่อยอดแนวคิดโปรตีน BSF และสมุนไพรไทยให้เป็นจุดเด่นด้านความยั่งยืนและการส่งเสริมภูมิปัญญาท้องถิ่นได้อีกด้วยค่ะ”
อุปสรรคที่พบระหว่างทาง
“ความท้าทายหลักของพวกเราคือการปรับสูตรให้สมดุลระหว่างโภชนาการ ความปลอดภัย และความน่ากิน รวมถึงการใช้ BSF ซึ่งยังใหม่ในตลาดไทย ทำให้ต้องวางแผนการสื่อสารอย่างรอบคอบค่ะ นอกจากนี้ การบริหารเวลาร่วมกับการเรียนก็เป็นอีกอุปสรรคที่เราต้องจัดการให้ดี โดยอาศัยการทำงานเป็นทีมและแบ่งหน้าที่อย่างชัดเจนตรงนี้เข้ามาช่วยค่ะ” —- ทีม NOPO-mummum
โครงการนี้ถือเป็นตัวอย่างสำคัญของการเชื่อมโยง “มหาวิทยาลัย นักศึกษา ภาคเอกชน และชุมชน” เพื่อร่วมกันออกแบบอนาคตที่ยั่งยืนและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมอย่างแท้จริงและยังตอกย้ำบทบาทของมหาวิทยาลัยขอนแก่นในฐานะมหาวิทยาลัยแห่งนวัตกรรม ที่มุ่งสร้างความเปลี่ยนแปลงทางสังคมผ่านการวิจัยที่มีคุณค่า และเชื่อมโยงภาคอุตสาหกรรมอย่างมีประสิทธิภาพ นอกจากโครงการนี้จะเป็นจุดเริ่มต้นของการสร้างเครือข่ายนักนวัตกรรุ่นใหม่ เชื่อมอุตสาหกรรมและชุมชนสู่องค์ความรู้ที่จับต้องได้แล้วนั้น ยังมุ่งสู่เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนตามแนวทางของสหประชาชาติ หรือ Sustainable Development Goals (SDGs) ในด้านต่าง ๆ ดังนี้
SDG 2: Zero Hunger (ขจัดความหิวโหย)
SDG 8: Decent Work and Economic Growth (มีคุณค่าและการเติบโตทางเศรษฐกิจ)
SDG 9: Industry, Innovation and Infrastructure (อุตสาหกรรม นวัตกรรม และโครงสร้างพื้นฐาน)
SDG 12: Responsible Consumption and Production (การบริโภคและการผลิตอย่างยั่งยืน)
SDG 13: Climate Action (รับมือการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ)
–