คณะเทคโนโลยี มข. ร่วมแถลงความสำเร็จโครงการวิจัย “Ugly Veggies Plus” ผลักดันเทคโนโลยี BCG ยกระดับอุตสาหกรรมอาหารอินทรีย์สู่ความยั่งยืน

เมื่อวันที่ 8 เมษายน 2568 คณะเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยขอนแก่น โดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.อัมพร แซ่เอียว รองคณบดีฝ่ายบริการวิชาการและนวัตกรรมเพื่อสังคม และอาจารย์ประจำสาขาวิชาเทคโนโลยีการอาหาร ได้เข้าร่วม งานแถลงข่าวความสำเร็จของโครงการวิจัย “Ugly Veggies Plus – การต่อยอดแบบจำลองธุรกิจบนพื้นฐานของเทคโนโลยี การตรวจสอบย้อนกลับ และเศรษฐกิจหมุนเวียนคาร์บอนต่ำ เพื่อการจัดการห่วงโซ่อุปทานการผลิตและการส่งออกของสินค้าอาหารอินทรีย์อย่างยั่งยืน” พร้อมจัดแสดงผลงานวิจัยเพื่อถ่ายทอดเทคโนโลยีสู่ภาคธุรกิจ

รองศาสตราจารย์ ดร.ภาณินี นฤธาราดลย์ ผู้อำนวยการศูนย์นวัตกรรมและสังคมแห่งความยั่งยืน วิทยาลัยนานาชาติ มข.

ภายในงาน รองศาสตราจารย์ ดร.ภาณินี นฤธาราดลย์ ผู้อำนวยการศูนย์นวัตกรรมและสังคมแห่งความยั่งยืน วิทยาลัยนานาชาติ มข. ได้กล่าวถึงเป้าหมายหลักของโครงการว่า มุ่งเน้นการแก้ปัญหาขยะอาหารซึ่งเป็นความท้าทายสำคัญระดับโลก โดยนำแนวคิด เศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) มาใช้ในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ต้นแบบจากวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร เช่น ดินพร้อมปลูก บาร์โปรตีน และหลอดพลาสติกย่อยสลายได้ เพื่อลดของเสียและเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจให้กับอุตสาหกรรมอาหารอินทรีย์

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.อัมพร แซ่เอียว อาจารย์ประจำสาขาวิชาเทคโนโลยีการอาหาร คณะเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยขอนแก่น

ในโอกาสนี้ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.อัมพร แซ่เอียว อาจารย์ประจำสาขาวิชาเทคโนโลยีการอาหาร คณะเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยขอนแก่น ได้นำเสนอผลงานนวัตกรรมด้านอาหารเพื่อสุขภาพ VEGGIES+ BAR ซึ่งเป็นบาร์โปรตีนที่ผลิตจาก ผักรูปร่างไม่สวย หรือ Ugly Veggies — ผักที่แม้ไม่ผ่านเกณฑ์ด้านรูปลักษณ์ แต่ยังคงคุณค่าทางโภชนาการไว้อย่างครบถ้วน

VEGGIES+ BAR พัฒนาขึ้นในรูปแบบ ผงผักเข้มข้นและบาร์โปรตีน ที่ให้โปรตีนสูงจากพืชผสานเวย์โปรตีน พร้อมส่วนผสมจากธรรมชาติ เช่น ช็อกโกแลตแท้และแครนเบอร์รี่ โดยไม่เติมน้ำตาล และยังมี ผักเม็ดอัดพอง เป็นอีกหนึ่งผลิตภัณฑ์ต้นแบบที่ตอบโจทย์ผู้บริโภคยุคใหม่ที่ใส่ใจสุขภาพและสิ่งแวดล้อม

ทั้งสองผลิตภัณฑ์นับเป็นผลลัพธ์สำคัญของโครงการวิจัย Ugly Veggies Plus ที่ดำเนินการโดยคณะเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยขอนแก่น ซึ่งมุ่งส่งเสริมการใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่า และยกระดับของเสียทางการเกษตรให้กลายเป็นผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่าในเชิงพาณิชย์โครงการยังได้บูรณาการเทคโนโลยีขั้นสูง อาทิ ระบบ Blockchain Traceability เพื่อการตรวจสอบย้อนกลับวัตถุดิบอย่างโปร่งใส เพิ่มความเชื่อมั่นให้แก่ผู้บริโภค ตลอดจนประเมินผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมด้วย Life Cycle Assessment (LCA) และการวัด Carbon Footprint เพื่อควบคุมการปล่อยคาร์บอนให้เป็นไปตามมาตรฐานสากล

ตลอดระยะเวลากว่า 3 ปีที่ผ่านมา โครงการสามารถสร้างรายได้จากผลิตภัณฑ์นำร่องรวมกว่า 1.33 ล้านบาท และขยายเครือข่ายความร่วมมือกับผู้ประกอบการได้มากกว่า 100 ราย ซึ่งได้นำแบบจำลองธุรกิจของโครงการไปปรับใช้จริงในเชิงพาณิชย์อย่างมีประสิทธิภาพ

การแถลงข่าวในครั้งนี้ ยังมีการจัดกิจกรรมถ่ายทอดองค์ความรู้และเทคโนโลยีแก่ผู้ประกอบการ ผ่านการจัดแสดงผลงานและให้คำปรึกษาโดยทีมวิจัย เพื่อส่งเสริมการต่อยอดเชิงธุรกิจ พร้อมทั้งตอกย้ำบทบาทของ คณะเทคโนโลยี มข. ในการขับเคลื่อนงานวิจัยและบริการวิชาการ บนพื้นฐานของแนวคิด BCG Economy (Bio-Circular-Green Economy) ซึ่งสอดคล้องกับวิสัยทัศน์ของคณะในการสร้างคุณค่าต่อสังคมและพัฒนาเศรษฐกิจไทยอย่างยั่งยืน

VEGGIES+ BAR บาร์เสริมโปรตีนจากธรรมชาติ
ผักเม็ดอัดพอง

ข่าว : ประทีป เทวงษา

ภาพ จาก : Ugly Veggies Thailand