แผ่นดินไหวขนาด 7.7 แมกนิจูดในประเทศเมียนมา แรงสั่นสะเทือนบางส่วนรับรู้ได้ถึงประเทศไทย รวมถึงในพื้นที่จังหวัดขอนแก่น โดยเฉพาะภายในอาคารสูงของมหาวิทยาลัยขอนแก่น เมื่อวันที่ 28 มีนาคมที่ผ่านมา สร้างความตระหนักเกี่ยวกับ “แผ่นดินไหว” ว่าเป็นภัยพิบัติที่ไม่ได้อยู่ไกลตัวอีกต่อไป เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นได้อย่างไร และในอนาคตยังจะมีความเสี่ยงอีกไหม ชวนมองผ่านมุมนักวิชาการด้านธรณีวิทยา มหาวิทยาลัยขอนแก่น
“Supershear Earthquake” ปรากฏการณ์แผ่นดินไหวรุนแรงส่งผลไกลถึงไทย
ผศ.ดร.เกียรติศักดิ์ ศรภิรมย์ หัวหน้าสาขาวิชาเทคโนโลยีธรณี คณะเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยขอนแก่น อธิบายเกี่ยวกับประเด็นนี้ว่า แผ่นดินไหวครั้งนี้ มีสาเหตุหลักน่าจะมาจาก Supershear Earthquake (การแยกของแผ่นดินที่เร็วกว่าปกติ) ซึ่งเป็นผลมาจากรอยเลื่อนสะกายที่เคลื่อนที่แบบ Right-lateral Strike-Slip Fault ที่ประเทศเมียนมา ทำให้คลื่นไหวสะเทือน (Seismic wave) เคลื่อนผ่านชั้นดินมายังประเทศไทย ส่งผลให้ภาคเหนืออย่างเชียงใหม่และพื้นที่กรุงเทพฯ รับรู้แรงสั่นไหวได้ชัดเจน
สำหรับจังหวัดขอนแก่น แม้จะอยู่ห่างจากจุดศูนย์กลาง แต่ด้วยลักษณะของชั้นดินใต้ผิวโลกที่เป็นชั้นหินที่ไม่แข็งแรงมากนัก เช่น หมวดหินภูทอกและหมวดหินมหาสารคาม ซึ่งประกอบด้วยหินตะกอนเนื้อละเอียดและเกลือที่สามารถผุพังให้ดินเหนียว ทำให้คลื่นไหวสะเทือนขยายตัวและส่งผลกระทบอย่างชัดเจนต่ออาคารสูง โดยเฉพาะอาคารภายในมหาวิทยาลัยขอนแก่นที่รู้สึกถึงแรงสั่นอย่างเด่นชัด ระดับความรุนแรงอยู่ที่ระดับ 3 จาก 12 ระดับ ของ Modified Mercalli Intensity (MMI) Scale
ผศ.ดร.เกียรติศักดิ์ ยังระบุอีกว่า ก่อนหน้านี้ที่จังหวัดขอนแก่นเคยได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์แผ่นดินไหวเมื่อปี 2547 ซึ่งเกิดเหตุสึนามิที่ประเทศไทย โดยรับรู้ถึงแรงสั่นสะเทือนมากกว่าครั้งนี้ เนื่องจากแผ่นดินไหวที่อินโดนีเซียในครั้งนั้น เป็นการมุดตัวของแผ่นเปลือกโลก (Subduction) ซึ่งจะทำให้เกิดรอยเลื่อนย้อนมุมต่ำ (thrust fault) จึงทำให้มีความรุนแรงมากกว่า ขณะเดียวกันยังเป็นแผ่นดินไหวที่เกิดใต้น้ำจึงทำให้มีสึนามิตามมา แต่แผ่นดินไหวที่มัณฑะเลย์ ประเทศเมียนมา ในปี 2568 ครั้งนี้เกิดบนบก จึงยืนยันได้ว่า จะไม่ทำให้เกิดสึนามิตามมาอย่างแน่นอน
ขอนแก่นไม่ใช่ศูนย์กลางแผ่นดินไหว แต่ต้องพร้อมรับมือ
ขณะที่ รศ.ดร.วิมลทิพย์ สิงห์เถื่อน อาจารย์ผู้สอนวิชา Petrology and Tectonics คณะเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยขอนแก่น กล่าวเสริมว่า ขอนแก่นตั้งอยู่บนพื้นที่ที่มีความเสถียรสูง หรือ Stable Land โอกาสเกิดแผ่นดินไหวโดยตรงจึงน้อยมาก อย่างไรก็ตาม การเคลื่อนตัวของแผ่นเปลือกโลกในภูมิภาค โดยเฉพาะจากประเทศเพื่อนบ้านอย่างลาวและเมียนมา ยังสามารถส่งผลกระทบต่อพื้นที่ได้ หรืออาจจะเป็นการเคลื่อนตัวของรอยเลื่อนมีพลังในประเทศไทยเอง โดยเฉพาะรอยเลื่อนมีพลังใกล้ขอนแก่น เช่น รอยเลื่อนเลย-เพชรบูรณ์ และรอยเลื่อนท่าแขกที่ขนานไปกับแนวแม่น้ำโขงบริเวณชายแดนไทย-ลาว
พื้นที่หนึ่งสามารถนำไปสู่การเคลื่อนไหวของแผ่นเปลือกโลกในพื้นที่อื่นได้ เพื่อรักษาสมดุลของเปลือกโลก คล้ายกับปรากฏการณ์ “ผีเสื้อขยับปีก” ที่ส่งผลสะเทือนต่อกันเป็นลูกโซ่ในระดับโลก”
ธรณีวิทยาไม่ใช่เรื่องไกลตัว ควรเรียนรู้-รับมือ-ตรวจสอบอย่างเป็นระบบ
รศ.ดร.วิมลทิพย์ ยังระบุอีกว่า แรงสั่นสะเทือนจากแผ่นดินไหวอาจส่งผลให้พื้นที่ลาดชันเกิดการพังทลายและดินถล่มได้ง่าย โดยเฉพาะพื้นที่ที่ไม่มีการเสริมฐานรากหรือไม่มีการวางแผนการใช้พื้นที่อย่างเหมาะสม ดังนั้น นอกจากการเสริมความแข็งแรงของอาคารแล้ว ควรให้ความสำคัญกับการประเมินสภาพดินและหินฐานรองรับในแต่ละพื้นที่ โดยเฉพาะพื้นที่เสี่ยงดินสไลด์ซึ่งต้องได้รับการเฝ้าระวังอย่างต่อเนื่อง
ขณะเดียวกัน การเข้าใจโครงสร้างของโลกจะช่วยให้เราไม่ตื่นตระหนกเมื่อต้องเผชิญภัยธรรมชาติ พร้อมทั้งเสนอว่าหลักสูตรด้านธรณีวิทยาควรถูกบูรณาการในระบบการศึกษาไทยอย่างจริงจัง เพื่อสร้างความรู้ที่เท่าทันโลกในยุคที่ภัยธรรมชาติเกิดขึ้นบ่อยครั้งและไม่อาจคาดเดาได้
“ประชาชนควรตระหนักถึงภัยแผ่นดินไหวแม้จะไม่คุ้นชิน เพราะเหตุการณ์เช่นนี้อาจเกิดขึ้นได้อีกในอนาคต และควรมีการเตรียมพร้อมไว้เสมอในด้านโครงสร้างอาคาร รวมทั้งการรับมือเมื่อเกิดเหตุและเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจเรื่องธรณีพิบัติภัยในวงกว้าง ขณะเดียวกันในอนาคตเราน่าจะได้เห็นภาพการสนับสนุนงานวิจัยด้านธรณีวิทยาและด้านวิศวกรรมที่เกี่ยวข้องกับเรื่องแผ่นดินไหวกันมากขึ้น”
หลักสูตรใหม่ เทคโนโลยีธรณี มข. ปูพื้นฐานความเข้าใจธรณีพิบัติภัยทุกมิติ
ด้าน อ.ดร.พจน์ปรีชา พรไทย อาจารย์ผู้สอนวิชา Geophysical Exploration and Geohazards คณะเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยขอนแก่น ระบุว่า สำหรับผู้ที่สนใจด้านธรณีวิทยา สาขาวิชาเทคโนโลยีธรณี คณะเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยขอนแก่น เปิดสอนหลักสูตรใหม่ที่ออกแบบมาให้ครอบคลุมตั้งแต่พื้นฐานจนถึงขั้นประยุกต์ โดยเริ่มจากวิชาธรณีวิทยาทั่วไป การเรียนรู้ลักษณะและการเคลื่อนตัวของแผ่นเปลือกโลก ตลอดจนกระบวนการที่ก่อให้เกิดแผ่นดินไหวและภูเขาไฟระเบิด
หลักสูตรยังต่อยอดไปยังวิชาธรณีฟิสิกส์ ซึ่งเน้นเรื่องคลื่นไหวสะเทือน ลักษณะและคุณสมบัติของคลื่นแผ่นดินไหว (Seismology) พร้อมทั้งมีวิชาธรณีพิบัติภัย ที่ครอบคลุมภัยธรรมชาติต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นภูเขาไฟระเบิด ดินถล่ม หลุมยุบ การทรุดตัวของดิน การรุกล้ำของน้ำทะเล รวมถึงสึนามิ โดยเน้นให้ผู้เรียนเข้าใจสาเหตุ กลไก วิธีการป้องกันและบรรเทาความเสียหายจากภัยพิบัติอย่างเป็นระบบ เพื่อให้สามารถนำความรู้ไปประยุกต์ใช้ได้จริงในสถานการณ์ฉุกเฉิน
4 วิธีสังเกตแผ่นดินไหวจากนักธรณีวิทยา มข.
หัวหน้าสาขาวิชาเทคโนโลยีธรณี คณะเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยขอนแก่น ยังได้ปิดท้ายด้วยเทคนิคการสังเกตเหตุการณ์แผ่นดินไหว เมื่อต้องเผชิญกับสถานการณ์ที่ไม่คุ้นเคยนี้ผ่าน 4 วิธี ได้แก่
- สังเกตจากน้ำในภาชนะ ทั้งน้ำในแก้ว ขวด ตู้ปลา หรือแม้แต่หม้อชาบูที่กำลังรับประทานกันอยู่ หากสั่นไหว หรือกระเพื่อมออกมาแสดงว่าเกิดแผ่นดินไหว
- วัตถุที่แขวนอยู่บนเพดาน มีการสั่นไหว รูปภาพติดผนังมีการโยกอย่างรุนแรง
- ตัวเรารับรู้ได้ดีที่สุด เมื่อเกิดการอาการโคลงเคลง ทรงตัวไม่อยู่ อย่าเพิ่งนึกว่าตัวเองเป็นความดัน หรือ บ้านหมุน ให้ตั้งสติและพิจารณาว่าเป็นเหตุการณ์แผ่นดินไหวหรือไม่
- สังเกตสภาพแวดล้อมทั่วไป หากไม่ได้อยู่ในตึก อยู่ในที่โล่งกว้างอาจจะเห็นน้ำผุด โคลนผุด หรือในบ่อปลามีพฤติกรรมแปลก ๆ ว่ายน้ำวน
ขอขอบคุณภาพและข่าวจาก: คุณผานิต ฆาตนาค กองสื่อสารองค์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น
รับชมและติดตามข่าวสารมหาวิทยาลัยขอนแก่นเพิ่มเติมที่เว็บไซต์ https://cad.kku.ac.th/ และ https://th.kku.ac.th/