ผศ. ดร.กันติยา เพชรสง อาจารย์ประจำสาขาวิชาเทคโนโลยีการอาหาร คณะเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยขอนแก่น ได้รับเกียรติเป็นวิทยากรในเวทีประชุมวิชาการนานาชาติ ISAN Creativity and Innovation Summit 2025 (ICIS 2025) เพื่อแบ่งปันมุมมองและแรงบันดาลใจในการพัฒนานวัตกรรมอาหาร ภายใต้แนวคิด Soft Power Novation ผ่านผลงานนวัตกรรมเด่น “CARE CAL: โยเกิร์ตโปรตีนจากพืชเสริมไบโอแคลเซียมจากกระดูกปลานิล”
ICIS 2025 จัดขึ้นระหว่างวันที่ 5 – 6 กรกฎาคม 2568 ณ อาคารอุทยานวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น โดยมี นางสาวธีรรัตน์ สำเร็จวาณิชย์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย ให้เกียรติเป็นประธานเปิดงาน พร้อมเยี่ยมชมนิทรรศการแสดงผลงานนวัตกรรมสร้างสรรค์จากหลากหลายภาคส่วนทั่วภูมิภาคอีสาน
หนึ่งในไฮไลต์ของนิทรรศการ คือ ผลงานนวัตกรรมด้านอาหารจากสาขาวิชาเทคโนโลยีการอาหาร คณะเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยขอนแก่น (FOOD TECH KKU) ที่สะท้อนการบูรณาการวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีกับ Soft Power ในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจสร้างสรรค์ของไทยอย่างเป็นรูปธรรม
ผลงานเด่นจาก FOOD TECH KKU ที่จัดแสดงในงาน ได้แก่:
-
✨ CARE CAL: โยเกิร์ตโปรตีนจากพืชเสริมไบโอแคลเซียมสกัดจากกระดูกปลานิล
(โดย ผศ. ดร.กันติยา เพชรสง) -
✨ KACHI: นมถั่วเหลืองพุดดิ้งเชคผสมไข่ผำ
(โดย ดร.นัฐวงค์ เฟื่องไพบูลย์) -
✨ SimpleSense: เพียวเร่ซุปพร้อมทาน พลังงานสูง โปรตีนสูง สารอาหารครบ 5 หมู่ เนื้อเนียนนุ่มกลืนง่าย
(โดย ผศ. ดร.พิมพ์นิภา หิรัณย์สร) -
✨ COCO: น้ำมะพร้าวก้อนพร้อมทาน
(โดย รศ. ดร.จันทิมา ภูงามเงิน) -
✨ มัดรัก: ข้าวต้มมัดจากไข่ขาว
(โดย ดร.นัฐวงค์ เฟื่องไพบูลย์)
นวัตกรรม “CARE CAL” ถือเป็นตัวอย่างโดดเด่นของการใช้วัตถุดิบจากแหล่งโปรตีนทางเลือก—กระดูกปลานิล ซึ่งอุดมไปด้วยแคลเซียมธรรมชาติ มาผสานเข้ากับ โปรตีนจากพืชและจุลินทรีย์ Probiotics พัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์โยเกิร์ตที่ตอบโจทย์ผู้บริโภครุ่นใหม่ ทั้งด้านสุขภาพ ความยั่งยืน และมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจ
งาน ISAN Creativity and Innovation Summit 2025 (ICIS 2025) เป็นมากกว่างานแสดงผลงานวิจัย เพราะเป็น Business Platform ที่รวมพลังจากหลายภาคส่วน ทั้งนักวิชาการ นักศึกษา ผู้ประกอบการ นักออกแบบ และนักลงทุน เพื่อขับเคลื่อนอนาคตของภาคอีสานอย่างยั่งยืน
ภายในงานประกอบด้วย:
-
เวทีวิชาการระดับนานาชาติ
-
พื้นที่จัดแสดงนิทรรศการผลงานวิจัยและผลิตภัณฑ์นวัตกรรม
-
การแข่งขัน Hackathon สำหรับคนรุ่นใหม่
-
โอกาสจับคู่ธุรกิจเพื่อการต่อยอดเชิงพาณิชย์
-
และการนำเสนอแนวคิดสร้างสรรค์จาก 5 กลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมาย
ทั้งหมดนี้สะท้อนว่า “อีสาน” ไม่ได้เป็นเพียงพื้นที่ทางภูมิศาสตร์ แต่กำลังกลายเป็นพื้นที่แห่ง พลังความคิดสร้างสรรค์ ที่พร้อมเชื่อมต่อกับเศรษฐกิจระดับภูมิภาคอาเซียนและโลก