เมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม 2568 รองศาสตราจารย์ ดร.วิมลทิพย์ สิงห์เถื่อน อาจารย์ประจำสาขาวิชาเทคโนโลยีธรณี คณะเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยขอนแก่น พร้อมด้วยทีมนักศึกษาชั้นปีที่ 3 จากสาขาวิชาเทคโนโลยีธรณี ร่วมกับสำนักศิลปากรที่ 8 ขอนแก่น และอุทยานธรณีขอนแก่น ลงพื้นที่ในเขตอำเภอภูเวียง จังหวัดขอนแก่น เพื่อดำเนินการสำรวจและเก็บข้อมูลตะกรันโลหะโบราณ ซึ่งเป็นหลักฐานสำคัญด้านทรัพยากรธรณีและเทคโนโลยีโบราณในพื้นที่
การดำเนินงานครั้งนี้จัดขึ้นภายใต้ โครงการวิจัย “ทรัพยากรธรณีที่สนับสนุนการถลุงเหล็กบริเวณอุทยานธรณีขอนแก่น: จากหลักฐานการกระจายตัวของตะกรันโลหะโบราณ” (Georesources Supporting Iron Smelting in Khon Kaen Geopark: Evidence from the Distribution of Archaeometallurgical Slag) โดยได้รับการสนับสนุนทุนวิจัยจาก สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ในประเด็นด้านมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2568
ภาคีความร่วมมือในโครงการประกอบด้วยนักวิชาการและผู้เชี่ยวชาญจากหลากหลายสถาบัน อาทิ
-
นางสาวทิพย์วรรณ วงศ์อัสสไพบูลย์ นักโบราณคดีชำนาญการ
-
นางสาวประวินัส ภารสุวรรณ และนายพันธ์ศักดิ์ บุญที เจ้าหน้าที่สำนักศิลปากรที่ 8 ขอนแก่น
-
นางสาวผกาสวรรค์ ปรัชญคุปต์ นักผังเมืองชำนาญการ จากทีมอุทยานธรณีขอนแก่น
โครงการวิจัยดังกล่าวมี รองศาสตราจารย์ ดร.วิมลทิพย์ สิงห์เถื่อน เป็นหัวหน้าโครงการ และดำเนินงานร่วมกับคณาจารย์ผู้เชี่ยวชาญจากหลายสถาบันชั้นนำของประเทศ ได้แก่ มหาวิทยาลัยศิลปากร มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย รวมถึงหน่วยงานราชการด้านทรัพยากรและโบราณคดี อย่างกรมทรัพยากรธรณี กรมศิลปากร และอุทยานธรณีขอนแก่น
เป้าหมายหลักของโครงการวิจัยนี้คือการศึกษาบทบาทของทรัพยากรธรณีในกระบวนการถลุงเหล็กในอดีต ผ่านการวิเคราะห์ตะกรันโลหะโบราณที่พบในพื้นที่ เพื่อสร้างองค์ความรู้ใหม่เชิงวิทยาศาสตร์และโบราณคดี ซึ่งจะเป็นฐานข้อมูลสำคัญในการขับเคลื่อน “อุทยานธรณีขอนแก่น” สู่การขึ้นทะเบียนเป็น อุทยานธรณีโลกของยูเนสโก (UNESCO Global Geopark) ในอนาคต
การดำเนินงานสอดคล้องกับวิสัยทัศน์ของคณะเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยขอนแก่น ที่มุ่งสู่การเป็นองค์กรชั้นนำในการผลิตนักเทคโนโลยีและนวัตกรรมจากผลงานวิจัยสู่สังคม และพัฒนาอย่างยั่งยืนในระดับสากล
ข่าว : ประทีป เทวงษา
ขอบคุณภาพจาก : Khon Kaen Geopark อุทยานธรณีขอนแก่น, Department of Geotechnology KKU