นักศึกษาสาขาวิชาเทคโนโลยีธรณี คณะเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยขอนแก่น เข้ารับการฝึกปฏิบัติงานกับพิพิธภัณฑ์สิรินธร จังหวัดกาฬสินธุ์ ระหว่างการปิดภาคการศึกษาที่ 1/2566

สาขาวิชาเทคโนโลยีธรณี คณะเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยขอนแก่น มีหลักสูตรที่จัดการเรียนการสอนด้านเทคโนโลยีธรณีในระดับปริญญาตรี โท และเอก ภายในหลักสูตรมีกระบวนวิชาต่าง ๆ ที่ดำเนินการในภาคทฤษฎี และภาคปฏิบัติที่สนับสนุนให้นักศึกษาได้ฝึกปฏิบัติจริง ทำการศึกษาจริงในภาคสนาม และปฏิบัติงานร่วมกับหน่วยงานราชการ และเอกชน ที่มีการดำเนินการด้านธรณีวิทยา เช่น กระบวนวิชา TE044785 สหกิจศึกษา (Co-operative education for Geotechnology) สำหรับนักศึกษาเทคโนโลยีธรณี ชั้นปีที่ 4 เริ่มดำเนินการมาตั้งแต่ภาคการศึกษาที่ 2/2565

นอกเหนือไปจากนั้น สาขาวิชา ฯ ได้เล็งเห็นถึงความสำคัญของการศึกษานอกห้องเรียน การส่งเสริมการเรียนรู้กระบวนทัศน์ใหม่ตามปรัชญาการศึกษามหาวิทยาลัยขอนแก่น โดยการสนับสนุนให้นักศึกษาได้ฝึกปฏิบัติงานจริง ได้มีโอกาสนำความรู้จากสาขาวิชาที่ศึกษาไปประยุกต์ใช้ เรียนรู้ทักษะใหม่ ๆ และเพิ่มพูนประสบการณ์ก่อนสำเร็จศึกษา เตรียมความพร้อมสำหรับการทำงานจริงในอนาคต ด้วยการมีส่วนร่วมกับหน่วยงานราชการที่มีองค์ความรู้ และความเชี่ยวชาญโดยตรง โดยเฉพาะอย่างยิ่งการศึกษาทางธรณีวิทยาภาคสนาม การสำรวจ อนุรักษ์ และศึกษาวิจัยซากดึกดำบรรพ์ เป็นต้น จึงได้ประสานงานกับกรมทรัพยากรธรณี เขต 2 จังหวัดขอนแก่น ขอความอนุเคราะห์ให้พิจารณารับนักศึกษาที่มีความสนใจเป็นพิเศษ ได้ใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์ ฝึกปฏิบัติงานจริงร่วมกับนักธรณีวิทยาของกรมทรัพยากรธรณี ในระหว่างช่วงปิดภาคการศึกษา

ด้วยความอนุเคราะห์ของกรมทรัพยากรธรณี เขต 2 จังหวัดขอนแก่น นำโดย ดร.ดรุณี สายสุทธิชัย ผู้อำนวยการสำนักงานทรัพยากรธรณีเขต 2 ขอนแก่น ได้ตอบรับนักศึกษาสาขาเทคโนโลยีธรณีชั้นปีที่ 2  คณะเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยขอนแก่น จำนวน 4 ท่าน เข้าฝึกปฏิบัติงานด้านธรณีวิทยา และซากดึกดำบรรพ์ ระหว่างวันที่ 25 ตุลาคม ถึง 12 พฤศจิกายน 2566 ภายใต้หน่วยงานในสังกัด ได้แก่ พิพิธภัณฑ์สิรินธร อำเภอสหัสขันธ์ จังหวัดกาฬสินธุ์

ผลการฝึกปฏิบัติงานกับพิพิธภัณฑ์สิรินธร นักศึกษาได้ฝึกปฏิบัติงานจริงทั้งในงานส่วนพิพิธภัณฑ์ด้านการบริการนักท่องเที่ยว การให้ความรู้เบื้องต้นด้านซากดึกดำบรรพ์ผ่านการจัดกิจกรรมสร้างสรรค์ต่าง ๆ งานส่วนวิชาการ ได้เรียนรู้การจัดทำฐานข้อมูลซากดึกดำบรรพ์ในคลังตัวอย่าง การอนุรักษ์ซากดึกดำบรรพ์ในห้องปฏิบัติการ และออกฝึกงานในภาคสนามบริเวณภูน้อย บ้านดินจี่ อำเภอคำม่วง จังหวัดกาฬสินธุ์ ซึ่งเป็นแหล่งซากดึกดำบรรพ์ขึ้นทะเบียนที่พบซากดึกดำบรรพ์เป็นจำนวนมากและมีความหลากหลายของสิ่งมีชีวิตที่สุดแห่งหนึ่งของประเทศไทย โดยนักศึกษาได้ร่วมศึกษาตะกอนวิทยา การลำดับชั้นหิน ซากดึกดำบรรพ์ และสำรวจพื้นที่เพื่อกำหนดขอบเขตในการอนุรักษ์และพัฒนาแหล่งซากดึกดำบรรพ์ ฯ ร่วมกับเจ้าหน้าที่กรมทรัพยากรธรณี เพื่อพัฒนาเส้นทางการท่องเที่ยวเชิงธรรมชาติในอนาคต

สาขาวิชาเทคโนโลยีธรณี คณะเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยขอนแก่น ขอขอบพระคุณ สำนักทรัพยากรธรณีเขต 2 จังหวัดขอนแก่น กรมทรัพยากรธรณี กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ข้าราชการ และเจ้าหน้าที่ทุก ๆ ท่าน ที่ให้ความอนุเคราะห์การฝึกปฏิบัติงานของนักศึกษา รวมทั้งถ่ายทอดประสบการณ์การทำงานจริง มา ณ โอกาสนี้

รูปที่ 1 การบริการให้ความรู้ด้านซากดึกดําบรรพ์เบื้องต้น พิพิธภัณฑ์สิรินธร จังหวัดกาฬสินธุ์

รูปที่ 2 การทํากิจกรรมส่งเสริมการเรียนรู้ด้านซากดึกดําบรรพ์เบื้องต้น ห้องโถงพิพิธภัณฑ์สิรินธร

รูปที่ 3 การอนุรักษ์ซากดึกดําบรรพ์คลังตัวอย่างพิพิธภัณฑ์สิรินธร จังหวัดกาฬสินธุ์

รูปที่ 4 เรียนรู้วิธีการอนุรักษ์ซากดึกดําบรรพ์สัตว์มีกระดูกสันหลัง มหายุคมีโซโซอิก

รูปที่ 5 นักศึกษาร่วมสํารวจและเก็บข้อมูลธรณีวิทยาภาคสนาม บริเวณอําเภอคําม่วง จังหวัดกาฬสินธุ์

รูปที่ 6 เช้าร่วมการสํารวจพื้นที่เพื่อกําหนดขอบเขตในการอนุรักษ์และพัฒนาแหล่งซากดึกดําบรรพ์“ภูน้อย
จูแรสซิกปาร์ค เมืองไทย” #KalasinGeopark

รูปที่ 7 เยี่ยมชมศูนย์ศึกษาวิจัยและพิพิธภัณฑ์ไดโนเสาร์ภูเวียง อําเภอเวียงเก่า จังหวัดขอนแก่น
#KhonKaenGeopark