คณะเทคโนโลยี มข. จัดการแข่งขัน การประกวดนวัตกรรมอาหาร Food Product Innovation Contest

 

วันอังคารที่ 3 ตุลาคม 2566  คณะเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยขอนแก่น จัดกิจกรรมฉลองครบรอบ 60 ปี มหาวิทยาลัยขอนแก่น ในโครงการแข่งขัน “การประกวดนวัตกรรมอาหาร Food Product Innovation Contest”  นำโดย ผศ.ดร.อารยา เชาว์เรืองฤทธิ์คณบดีคณะเทคโนโลยี พร้อมด้วย บุคลากร และนักศึกษาคณะเทคโนโลยี ร่วมจัดกิจกรรมในครั้งนี้  ภายในงานได้รับเกียรติจาก ศ.ดร.ธิดารัตน์ บุญมาศ  รองอธิการบดีฝ่ายนวัตกรรมและวิสาหกิจ เป็นประธานกล่าวเปิดงาน  โดย ผศ.ดร.อารยา เชาว์เรืองฤทธิ์คณบดีคณะเทคโนโลยี  กล่าวรายงาน ณ ห้อง Auditorium อุทยานวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น

 

ศ.ดร.ธิดารัตน์ บุญมาศ  รองอธิการบดีฝ่ายนวัตกรรมและวิสาหกิจ
ผศ.ดร.อารยา เชาว์เรืองฤทธิ์คณบดีคณะเทคโนโลยี

 

ผศ.ดร.อารยา เชาว์เรืองฤทธิ์  คณบดีคณะเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยขอนแก่น  เผยว่า วัตถุประสงค์ของโครงการ เพื่อให้นักเรียนมัธยม สามารถบูรณาการองค์ความรู้ต่างๆ สู่การนำมาปฏิบัติได้จริง เกิดสำนึกรักษ์สิ่งแวดล้อม โดยการจัดการของเหลือจากใช้มาแปรรูปเป็นอาหารที่มีคุณค่าทางโภชนาการ และปลอดภัย เพื่อสร้างเครือข่ายความสัมพันธ์กับองค์กร หรือหน่วยงานภายนอก ให้เกิดความร่วมมือต่อยอดทำงานร่วมกันในอนาคต เช่น ผู้ประกอบการโลตัส ได้กิจกรรมดำเนินงานภายใต้ MOU เพื่อต่อยอดการจัดการอาหารส่วนเกิน ภายใต้โครงการกินได้ไม่ทิ้ง (Zero food waste) และโรงเรียนมัธยมได้แนะแนวนักเรียน สู่เส้นทางการประกอบอาชีพ เพิ่มโอกาสการเข้าศึกษาต่อในระดับมหาวิทยาลัย เพื่อบ่มเพาะนักเรียน นักศึกษาให้เป็นนักนวัตกรอาหาร และต่อยอดให้สามารถเข้าร่วมการแข่งขันในระดับภาค และระดับชาติได้

กิจกรรมเริ่มต้นตั้งแต่ เวลา 09.00-17.00 น. โดยในช่วงเช้าเป็นการแข่งขันใน ระดับมัธยม : นักเรียนมัธยมศึกษาตอนปลาย ในเขตภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ประกอบด้วยสมาชิกไม่เกิน 5 คน และอาจารย์ที่ปรึกษาโครงการ 1 คน หัวข้อการแข่งขัน คือ Food Waste (Fruit & Vegetable) to Food Sustainability โดยเป็นการนำผักและผลไม้ส่วนเกินจากทางโลตัสมาแปรรูปฟรี  โดยมีทีมที่ผ่านคัดเลือกเข้ารอบชิงชนะเลิศจำนวน 6 ทีม ในเขตภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

การจัดกิจกรรมในครั้งนี้ และมีคณะกรรมการการตัดสินผลการแข่งขันในครั้งนี้จำนวน 5 ท่าน ได้แก่

ประธาน นายนิยุทธ์ สืบสาย ผู้อำนวยการกลุ่มส่งเสริมการประกอบธุรกิจการค้าและการตลาด สำนักงานพาณิชย์จังหวัดขอนแก่น
กรรมการท่านที่ 1 นายเปรม ทรัพย์บุญเลิศมา ผู้จัดการแผนกความยั่งยืนองค์กร ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ  บริษัท เอก-ชัย ดีสทริบิวชั่น ซิสเทม จำกัด
กรรมการท่านที่ 2 นายสุวิทย์ จันทฤทธิ์ ผู้จัดการแผนกพัฒนาธุรกิจ อุทยานวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น
กรรมการท่านที่ 3 ผศ.ดร.อัมพร แซ่เอียว สาขาวิชาเทคโนโลยีการอาหาร คณะเทคโนโลยี
กรรมการท่านที่ 4 ดร.พิมพ์นิภา หิรัณย์สร สาขาวิชาเทคโนโลยีการอาหาร คณะเทคโนโลยี

 

 

รางวัลชนะเลิศ ทีม: โรงเรียนสตรีชัยภูมิ (โรงเรียนสตรีชัยภูมิ จ.ชัยภูมิ)
กิมจิเปลือกแตงโม จาก : โรงเรียนสตรีชัยภูมิ (โรงเรียนสตรีชัยภูมิ จ.ชัยภูมิ)

 

จากการประกวดผลปรากฏว่า

รางวัลชนะเลิศการแข่งขันในระดับมัธยมปลาย คือ โรงเรียนสตรีชัยภูมิ (โรงเรียนสตรีชัยภูมิ จ.ชัยภูมิ)

โดยทีมชนะเลิศระดับมัธยมปลาย ได้นำเสนอผลงาน กิมจิเปลือกแตงโม ที่มาและแนวความคิด แตงโมเป็นผลไม้ในท้องถิ่นของจังหวัดชัยภูมิและนักเรียนในโรงเรียนสตรีชัยภูมิก็นิยมทานแตงโม ในส่วนที่คนนิยมรับประทานมีเฉพาะส่วนที่เป็น เนื้อแตงโม ในขณะที่คนนิยมรับประทานแตงโมมากเท่าไร จำนวน เปลือกแตงโม ที่ถูกทิ้งเป็นขยะก็มีจำนวนมากเท่านั้น จึงเป็นที่มาของผลิตภัณฑ์ กิมจิเปลือกแตงโม ที่เราได้นำส่วนของเปลือกแตงโม ที่เหลือจากการรับประทาน แต่ยังมีคุณค่าทางโภชนาการมาแปรรูปเป็นอาหารที่สามารถรับประทานได้

ส่วนรางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 ทีม: KKW (โรงเรียนขอนแก่นวิทยายน จ.ขอนแก่น)
และรางวัลรองชนะเลิศอันดับ 2 ทีม: CAKE IT HAPPENS! (โรงเรียนสุรวิวัฒน์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี จ.นครราชสีมา)

 

 

รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 ทีม: KKW (โรงเรียนขอนแก่นวิทยายน จ.ขอนแก่น)
รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 2 ทีม: CAKE IT HAPPENS! (โรงเรียนสุรวิวัฒน์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี จ.นครราชสีมา)

 

ส่วนกิจกรรมช่วงบ่ายจะเป็น ระดับมหาวิทยาลัย : นักศึกษาระดับปริญญาตรี จากสถาบันอุดมศึกษา ในเขตภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ประกอบด้วยสมาชิกไม่เกิน 7 คน และอาจารย์ที่ปรึกษาโครงการ 1 คน  หัวข้อการแข่งขัน  คือ Food for Crisis โดยมีทีมที่ผ่านคัดเลือกเข้ารอบชิงชนะเลิศจำนวน 11 ทีม ในเขตภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

 

รางวัลชนะเลิศ ทีม D4U (มหาวิทยาลัยขอนแก่น จ.ขอนแก่น)
GABA Rester  ทีม D4U จากมหาวิทยาลัยขอนแก่น จ.ขอนแก่น

 

รางวัลชนะเลิศ ระดับปริญญาตรี คือ ทีม D4U จากมหาวิทยาลัยขอนแก่น จ.ขอนแก่น  โดยทีมชนะเลิศระดับปริญญาตรี ได้นำเสนอผลงาน  GABA Rester   เป็นอาหารเสริมบำรุงร่างกาย ที่มีส่วนของ กาบา ที่มีจุลินทรีย์ที่มีชีวิต ในรูปแบบผงบรรจุชอง แค่ ฉีก ชง ดื่ม พกพาง่ายจะกินในรูปแบบโยเกิร์ตผสมน้ำ หรือ ใช้ผลผสมของอาหารก็ช่วยเพิ่มรสชาติและให้พลังงานที่มีประโยชน์ต่อร่างกายได้อย่างดี

รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 ทีม: Energy Bars (มหาวิทยาลัยกาฬสินธุ์ จ.กาฬสินธุ์)
รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 2 MONTO (มหาวิทยาลัยขอนแก่น จ.ขอนแก่น)

 

รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 ทีม: Energy Bars (มหาวิทยาลัยกาฬสินธุ์ จ.กาฬสินธุ์)
รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 2 MONTO (มหาวิทยาลัยขอนแก่น จ.ขอนแก่น)

 

ทางคณะเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยขอนแก่น ขอแสดงความยินดี กับทีมที่ได้รับรางวัลในการแข่งขันในครั้งนี้ด้วย โดยกิจกรรมครั้งนี้ได้ความร่วมมือจากหลายหน่วยงาน ได้แก่ มหาวิทยาลัยขอนแก่น คณะเทคโนโลยี  บริษัท เอก-ชัย ดิสทริบิวชั่น ซิสเทม จำกัด (Lotus โลตัส)  และอุทยานวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น  กิจกรรมดังกล่าวเป็นเวทีให้นักเรียนแสดงความสามารถทางวิชาชีพ โดยมุ่งเน้นให้นักเรียนบูรณาการความรู้ทั้งทางทฤษฎีและทางปฏิบัติในการพัฒนาผลิตภัณฑ์เพื่อจัดการขยะจากอาหารได้ ภายใต้แนวคิด Zero Food Waste” การแข่งขันสนับสนุนให้ผู้ร่วมงานทุกคน โดยเฉพาะอย่างยิ่งนักเรียนที่ร่วมแข่งขันได้มีการตระหนักรู้ถึงการจัดการของเหลือใช้ ของเหลือทิ้ง ผ่านแนวคิด สร้างสรรค์ไอเดียเพื่อทำเมนูอาหารจากวัตถุดิบที่ยังเหลือค้าง นอกจากนี้กิจกรรมดังกล่าวยังพัฒนานักศึกษาของคณะฯ ร่วมจัดงานเป็นพี่เลี้ยงให้แก่น้องๆ ที่แข่งขัน ทำให้เกิดมิตรภาพ และสร้างภาพลักษณ์ที่ดีต่อองค์กร อีกทั้งยังฝึกฝนการเกิดกระบวนการเรียนรู้ การคิดแก้ไขปัญหาอย่างเป็นระบบสอดคล้องกับหลักการเรียนรู้ตลอดชีวิต เพื่อผลิตบัณฑิตในศตวรรษที่ 21 สร้างเด็กรุ่นใหม่ที่ใส่ใจสิ่งแวดล้อมในอนาคต

ข่าว : ประทีป เทวงษา

ภาพ : สุพัฒน์ บุญแก้ว