วันที่ 25-30 กันยายน 2566 คณะเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยขอนแก่น นำโดย ผศ.นุศรา สุระโคตร รองคณบดีฝ่ายการศึกษา พัฒนานักศึกษาและศิษย์เก่าสัมพันธ์ พร้อมด้วยนักศึกษาสาขาวิชาเทคโนโลยีธรณีชั้นปีที่ 4 จำนวน 4 คนคือ นางสาวณัชกานต์ สนองผัน, นางสาวศรุตา สุระโคตร, นายอชิรวิทย์ ณ นครพนม และนายศุภณัฐ กองจันทร์ เข้าร่วมประชุมวิชาการนานาชาติเชิงปฏิบัติการ ในโครงการ UNESCO Project: IGCP-700 Palaeozoic Carbonate Build-ups in South East Asia: Meeting + fieldtrip training for students/academics and young scientists on Sibumasu Palaeozoic carbonate build-ups, fossils and palaeoenvironments in Southern Thailand
โดยการประชุมวิชาการนี้จัดเป็นโครงการธรณีศาสตร์และอุทยานธรณีระหว่างประเทศ (IGCP) เป็นองค์กรความร่วมมือของ UNESCO (องค์การการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ) และสหภาพธรณีวิทยาสากล (IUGS) โครงการธรณีศาสตร์และอุทยานธรณีนานาชาติ ซึ่งการประชุม IGCP-700 ครั้งนี้ผู้จัดคือศูนย์วิจัยและการศึกษาบรรพชีวินวิทยา มหาวิทยาลัยมหาสารคาม กรมทรัพยากรธรณีประเทศไทย Universiti Teknologi Petronas, ประเทศมาเลเซีย Nanjing Institute of Geology and Palaeontology, Chinese Academy of Sciences, ประเทศจีน และ Seckenberg Research Institute and Natural History Museum, Frankfurt, ประเทศเยอรมัน
การประชุมแบ่งเป็น การประชุมวิชาการนานาชาติในวันที่ 25 ก.ย. 2566 โดย ผศ.นุศรา สุระโคตร ได้การนำเสนอผลงานรูปแบบโปสเตอร์ในหัวข้อ การศึกษาซากดึกดำบรรพ์จากหินยุคดีโวเนียนทางด้านตะวันออกของจังหวัดเลย ภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทย (The study of fossils from Devonian rock, eastern Loei, NE Thailand) ส่วนนักศึกษาได้ร่วมเข้าฟังการประชุมวิชาการนานาชาติซึ่งมีผู้บรรยายจากหลากหลายประเทศ เช่น ออสเตรเลีย จีน เกาหลี เนปาล กัมพูชา ไทย ลาว และมาเลเซีย ในรูปแบบการบรรยายเป็นภาษาอังกฤษ ณ โรงแรมบลูโซเทล อ่าวนาง จ.กระบี่
ระหว่างวันที่ 26-30 ก.ย. 2566 เป็นการศึกษาหินในภาคสนามโดยเริ่มจากอ่าวนาง จ.กระบี่ – อุทยานธรณี (Geopark) จ.สตูล ซึ่งเป็น อุทยานธรณีโลกของยูเนสโก (UNESCO Global Geoparks) – อุทยานธรณีลังกาวี ประเทศมาเลยเซีย ซึ่งเป็น อุทยานธรณีโลกของยูเนสโก (UNESCO Global Geoparks) เช่นกัน โดยทำการศึกษาหินและซากดึกดำบรรพ์ (Fossil) จากหินโผล่ในจุดสำคัญต่าง ๆ ของพื้นที่ มีผู้บรรยายหลักจากมาเลเซีย และไทย
ในการประชุมวิชาการเชิงปฏิบัติการนานาชาติในครั้งนี้ อาจารย์และนักศึกษาจากสาขาวิชาเทคโนโลยีธรณี คณะเทคโนโลยี ได้รับความรู้และประสบการณ์การศึกษาหินและซากดึกดำบรรพ์ในภาคสนาม และได้เรียนรู้เกี่ยวกับอุทยานธรณีระดับโลกของยูเนสโก จากผู้เชี่ยวชาญจากหลากหลายประเทศ
ขอขอบคุณ ข้อมูลข่าว/ภาพ จาก: ผศ.นุศรา สุระโคตร