คณะเทคโนโลยี มข. ร่วมถ่ายทอดองค์ความรู้ ให้กับเยาวชนรุ่นใหม่ สู่ “รางวัลเหรียญทอง” การแข่งขันการนำเสนอโครงงาน

สาขาวิชาเทคโนโลยีธรณี  สถาบันการศึกษาด้านเทคโนโลยีธรณีของภาคอีสานสำหรับคนรุ่นใหม่

เมื่อปีการศึกษา 2566 สาขาวิชาเทคโนโลยีธรณี คณะเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยขอนแก่น ได้ให้การต้อนรับกลุ่มนักเรียน และคุณครูจากห้องเรียนพิเศษวิทยาศาสตร์ ที่มีความสนใจด้านวิทยาศาสตร์โลก/ธรณีวิทยา พร้อมทั้งร่วมเป็นครูที่ปรึกษา โดยมี ผศ.ดร.วิมลทิพย์ สิงห์เถื่อน อาจารย์ประจำสาขาวิชาเทคโนโลยีธรณี ให้คำปรึกษา และคำแนะนำในด้านการทำโครงงานวิทยาศาสตร์ระดับมัธยมศึกษาในครั้งนี้ รวมทั้งเปิดโอกาสให้เรียนรู้และทำการทดลองจริงในห้องปฏิบัติการแร่วิทยาและศิลาวิทยา ตั้งแต่การอ่านแผนที่ภูมิประเทศและธรณีวิทยา การบรรยายลักษณะหิน การเตรียมตัวอย่างแผ่นหินบาง การศึกษาแร่ประกอบหินภายใต้กล้องจุลทรรศน์โพลาไรซ์ และการวิเคราะห์ชนิดแร่จากคุณสมบัติทางแสง ของสาขาวิชาเทคโนโลยีธรณี คณะเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยขอนแก่น

โดยหนึ่งความสำเร็จในการสร้างองค์ความรู้อย่างยั่งยืนครั้งนี้ คือ นักเรียนห้องเรียนพิเศษวิทยาศาสตร์ Science Mathematics Program หรือ SMP ม.6/10 ได้แก่  นางสาวนันทิมา สอรักษ์, นางสาวลักษิกา ศรีโนนยาง, นางสาวการนต์ธีรา พยัฆพันธ์  จากโรงเรียนอำนาจเจริญ ได้รับ รางวัลเหรียญทอง จากการแข่งขันการนำเสนอโครงงาน ณ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ระหว่างวันที่ 8-9 กันยายน 2566 ในหัวข้อเรื่อง “โครงงานการศึกษาศิลาวรรณนาของแผ่นหินบางจากหินที่พบบริเวณโรงเรียนอำนาจเจริญ และบริเวณพุทธอุทยาน อำเภอเมืองอำนาจเจริญ จังหวัดอำนาจเจริญ โดยใช้กล้องจุลทรรศน์โพลาไรซ์”

โครงงานวิทยาศาสตร์ของนักเรียนห้องเรียนพิเศษ ช่วยส่งเสริมให้อัจฉริยภาพที่มีอยู่เบ่งบานอย่างเต็มที่ และได้รับการพัฒนาเป็นนักวิจัยด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่มีคุณภาพ อันจะเป็นกำลังสำคัญต่อการพัฒนาประเทศ โดยใช้ความรู้ทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในการเพิ่มผลิตภาพ และสร้างนวัตกรรมในภาคการผลิตและภาคสังคม/ชุมชนต่อไปในอนาคต

คณะเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยขอนแก่น ขอแสดงความยินดีกับ นักเรียนและครูที่ปรึกษาอีกครั้ง หวังว่าน้อง ๆ จะนำความรู้และประสบการณ์ที่ได้รับไปถ่ายทอดสู่คนอื่น ๆ ต่อไป เพราะการสร้างโอกาส แบ่งปันความรู้ คือการขับเคลื่อนสังคมอย่างยั่งยืน

เกร็ดความรู้เพิ่มเติม

ศิลาวรรณา Petrographic analysis เป็นเทคนิคการวิเคราะห์หินและแร่ โดยศึกษาลักษณะโครงสร้างและแร่ธาตุต่างๆ  เพื่อวิเคราะห์ในระดับจุลสัณฐานของวัตถุที่ต้องการศึกษา ผลการวิเคราะห์สามารถนำไปใช้อธิบายและจำแนกหินรวมทั้งแร่ ให้ข้อมูลเกี่ยวกับแหล่งกำเนิด ลักษณะการเกิด โครงสร้าง และประวัติของหิน

แผ่นหินบาง Thin section ตัวอย่างหินที่มีความบาง 0.03 มิลลิเมตร หรือ 30 ไมครอน สำหรับใช้ศึกษาคุณสมบัติทางแสงของแร่ภายใต้กล้องจุลทรรศน์โพลาไรซ์ ซึ่งผ่านการตัด ขัด และติดกระจกสไลด์ ด้วยขั้นตอนที่ละเอียดอ่อน

ขอขอบคุณข้อมูลข่าว/ภาพ :  ผศ.ดร.วิมลทิพย์ สิงห์เถื่อน

โรงเรียนอำนาจเจริญ – Amnatcharoen School