การอบรม เรื่อง “ประสิทธิผลของโปรตีนเข้มข้นจากจิ้งหรีดต่อสมรรถภาพทางกายในมนุษย์ และประสิทธิผลของโปรตีนไฮโดรไลเซตจากจิ้งหรีดที่พัฒนาได้ในหนูทดลองความดันเลือดสูง”
วันจันทร์ที่ 10 ตุลาคม 2565 เวลา 13.00 – 17.00 น. ณ. ห้องเฟื่องฟ้า อาคาร TE 06 ชั้น 1
คณะเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยขอนแก่น
ฟรีไม่มีค่าใช้จ่าย!!
รับจำนวนจำกัด 30 คน เท่านั้น (หน่วยงานละไม่เกิน 1-2 คน) สามารถสมัครได้ตั้งแต่วันนี้จนถึง วันที่ 5 ตุลาคม 2565
สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่
รศ.ดร.ศุภวรรณ ถาวรชินสมบัติ
Email : suptha@kku.ac.th
โทรศัพท์ภายใน : 44648
____แมลงเป็นอาหารทางเลือกที่มีโปรตีนสูง ราคาไม่แพง สามารถผลิตได้ง่ายในท้องถิ่น เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และสามารถเติบโตได้จากขยะอินทรีย์ รวมทั้งยังสามารถแปรรูปเป็นวัตถุดิบที่มีคุณภาพสูง เช่น โปรตีน ไขมัน และไคติน ข้อมูลผลการศึกษาคาดการณ์ว่าตลาดแมลงรับประทานได้ทั่วโลกจะมีอัตราการเติบโตระหว่างปี 2018-2023 สูงถึงร้อยละ 23.8 และคาดว่าในปี 2023 ตลาดจะมีขนาด 37,900 ล้านบาท ซึ่งประเทศไทยถือเป็นผู้ส่งออกแมลงรายหลักของโลก มีกำลังการผลิตจิ้งหรีดมากกว่า 7,000 ตันต่อปี คิดเป็นมูลค่าจิ้งหรีดสดมากกว่า 1,000 ล้านบาท แม้ว่าประเทศไทยมีศักยภาพในการผลิตภัณฑ์จากแมลงได้อีกมาก แต่ยังต้องการงานวิจัยและพัฒนาทั้งในเรื่องการเลี้ยงให้ได้ปริมาณมากและได้มาตรฐาน และการแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์อาหารเพื่อเพิ่มมูลค่า ในหลายประเทศได้มีการใช้กฏระเบียบ“อาหารใหม่” (Novel Foods) ให้สอดคล้องกับพัฒนาการด้านนวัตกรรมและเทคโนโลยีของอาหารปัจจุบัน และให้การยอมรับอาหารพื้นบ้าน เช่น แมลง ซึ่งเน้นเอกสารทางวิชาการเพื่อยืนยันนวัตกรรมหรือเทคโนโลยีที่นำมาใช้ผลิตนั้นมีความปลอดภัยต่อผู้บริโภค ดังนั้น แมลงหลายชนิดรวมทั้งจิ้งหรีด จึงมีความสำคัญต่อการพัฒนาความมั่นคงทางอาหารของโลกในอนาคตเพื่อเพิ่มศักยภาพในการแข่งขันทั้งตลาดภายในและต่างประเทศของผลิตภัณฑ์แปรรูปจากจิ้งหรีด เพื่อเพิ่มโอกาสในการแข่งขัน
____การพิสูจน์คุณค่าที่ส่งผลดีต่อสุขภาพของโปรตีนจากจิ้งหรีด เช่น การเสริมโปรตีนให้กับกล้ามเนื้อ ซึ่งประชากรเป้าหมาย น่าจะเป็นผู้ที่อยู่ในวัยกลางคนและสูงอายุ ซึ่งมีปัญหาการลดลงของมวลกล้ามเนื้อ ที่ทำให้เกิดปัญหาสุขภาพดังกล่าวข้างต้น รวมทั้ง ปัจจุบันสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ ให้การส่งเสริมการวิจัยและนวัตกรรมให้เกิดการเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจของ ”จิ้งหรีด” ซึ่งนับเป็นสัตว์เศรษฐกิจสำคัญชนิดหนึ่งของประเทศ ทีมวิจัยจากมหาวิทยาลัยขอนแก่น จึงสนใจที่จะนำโปรตีนจากจิ้งหรีดที่ได้ผ่านการพัฒนาโดยนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยขอนแก่นให้อยู่ในรูปของโปรตีนเข้มข้นผง (cricket protein concentrate powder) ที่ละลายได้ดีขึ้น มีสีเข้มน้อยลง เพื่อให้ใช้ประโยชน์ในผลิตภัณฑ์อาหารได้มากขึ้นและเพิ่มการยอมรับของผู้บริโภค มาศึกษาประสิทธิผลต่อมวลกล้ามเนื้อ ภาวะเครียดออกซิเดชัน ภาวะการอักเสบ และการเสริมสร้างสมรรถภาพทางกายของผู้ที่อยู่ในวัยกลางคนและสูงอายุ อันเป็นการเพิ่มมูลค่าของจิ้งหรีดให้มากยิ่งขึ้น
____ในประเทศไทยมีการคาดการณ์ว่ามีประชากรที่เป็นโรคความดันโลหิตสูงร้อยละ 22 หรือราว 11.5 ล้านคน ทั้งนี้ผู้ป่วยกว่าครึ่งหนึ่งไม่รู้ตัวว่าเป็นโรคความดันโลหิตสูง เพราะภาวะความดันโลหิตสูงมักไม่แสดงอาการ หากไม่วัดความดันเลือดก็จะไม่มีโอกาสทราบ และเมื่อผู้ป่วยอยู่ในภาวะความดันโลหิตสูงเป็นเวลานานโดยไม่ได้รับการรักษา โรคจะทวีความรุนแรงมากขึ้นและเป็นปัจจัยเสี่ยงสำคัญต่อการเกิดโรคอันตรายอื่นๆตามมา เช่น โรคหลอดเลือดสมอง กล้ามเนื้อหัวใจตาย และโรคไตวาย เทคโนโลยีการเพิ่มมูลค่าโปรตีนจากแมลงโดยนําไปผ่านกระบวนการย่อย (hydrolysis) เพื่อสลายพันธะเพปไทด์ (peptide) ทำให้ได้โปรตีนไฮโดรไลเซต ซึ่งมีคุณสมบัติทางชีวภาพบางอย่างที่ส่งผลดีต่อสุขภาพ เช่น การต้านอนุมูลอิสระ การลดความดันเลือด จากการมีสารต้านการอักเสบและยับยั้งเอนไซม์ที่ส่งผลต่อความดันเลือดสูง โปรตีนไฮโดรไลเซตจากจิ้งหรีดจึงเป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่นำไปใช้เพิ่มศักยภาพในการผลิต มูลค่าการผลิตและเพิ่มความสามารถในการแข่งขันในตลาดจิ้งหรีดผงของผู้ประกอบการไทยต่อไปได้
- เพื่อเผยแพร่ผลงานวิจัยถึงประโยชน์ของโปรตีนจากจิ้งหรีดต่อต่อมวลกล้ามเนื้อ ภาวะเครียดออกซิเดชัน ภาวะการอักเสบ และสมรรถภาพทางกาย ของอาสาสมัครวัยกลางคนและสูงอายุ
- เพื่อสร้างความรู้พื้นฐานเกี่ยวกับกระบวนการผลิตโปรตีนไฮโดรไลเซตจากจิ้งหรีด ที่แสดงกิจกรรมทางชีวภาพด้านการต้านออกซิเดชันและการลดความดันเลือด
- เพื่อเผยแพร่ผลงานวิจัยถึงประโยชน์ของโปรตีนไฮโดรไลเซตจากจิ้งหรีดในการต้านออกซิเดชัน การลดความดันเลือด และการปรับเปลี่ยนโครงสร้างผนังหลอดเลือดและหัวใจ ในหนูทดลองความดันเลือดสูง
- รศ.ดร. นฤมล ลีลายุวัฒน์ สาขาวิชาวิทยาศาสตร์การออกกำลังกายและการกีฬา คณะบัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยขอนแก่น
- รศ.ดร. ศุภวรรณ ถาวรชินสมบัติ สาขาวิชาเทคโนโลยีการอาหาร คณะเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยขอนแก่น
- สพ.ญ.ดร.เกตุมณี เสนาพันธ์ กลุ่มวิชาสรีรวิทยา คณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น
- ดร. ขวัญฤดี วชิรัตนพงษ์เมธี สาขาวิชาเทคโนโลยีการอาหาร คณะเทคโนโลยี
[pdf-embedder url=”http://te.kku.ac.th/wp-content/uploads/2022/09/กำหนดการการอบรม2.pdf”]
โหลด >> กำหนดการอบรม