จบลงแล้วกับค่าย 2 ค่ายโอลิมปิกวิชาการ สอวน. วิทยาศาสตร์โลกและอวกาศ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
ศูนย์คณะเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยขอนแก่น
ตามที่ศูนย์ สอวน. คณะเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยขอนแก่น ได้รับมอบหมายจากมูลนิธิส่งเสริมโอลิมปิกวิชาการและพัฒนามาตรฐานวิทยาศาสตร์ศึกษาในพระอุปถัมภ์สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอเจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ (สอวน.) โดยมีสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงเป็นองค์ประธาน ให้เป็นศูนย์การดำเนินโครงการส่งเสริมโอลิมปิกวิชาการและพัฒนามาตรฐานวิทยาศาสตร์ศึกษา ระดับภูมิภาคในเขตภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ได้จัดการอบรมค่าย 2 โอลิมปิกวิชาการ สอวน. วิทยาศาสตร์โลกและอวกาศ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ณ สาขาวิชาเทคโนโลยีธรณี คณะเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยขอนแก่น ระหว่างวันที่ 1-16 พฤษภาคม 2565 เพื่อคัดเลือกผู้แทนศูนย์ฯ ไปแข่งขันโอลิมปิกวิชาการวิทยาศาสตร์โลกและอวกาศระดับชาติ ครั้งที่ 2 ณ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
เมื่อวันจันทร์ ที่ 16 พฤษภาคม 2565 ผศ.ดร.อารยา เชาว์เรืองฤทธิ์ คณบดีคณะเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยขอนแก่น ร่วมกับ ผศ.เกียรติศักดิ์ ศรภิรมย์ หัวหน้าสาขาวิชาเทคโนโลยีธรณีและประธานศูนย์โอลิมปิกวิชาการ สอวน. วิทยาศาสตร์โลกและอวกาศ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ศูนย์คณะเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยขอนแก่น ได้ให้เกียรติกล่าวอวยพร มอบวุฒิบัตร พบปะคณะนักเรียน และกล่าวปิดค่าย 2 โอลิมปิกวิชาการ สอวน. วิทยาศาสตร์โลกและอวกาศ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ศูนย์คณะเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยขอนแก่น จำนวน 27 คน จากทั่วภูมิภาคตะวันออกเฉียงเหนือ โดยมี ผศ.ดร.วิมลทิพย์ สิงห์เถื่อน เลขานุการศูนย์ฯ กล่าวรายงานรายละเอียดการดำเนินงานจัดค่าย พร้อมทั้งมี ดร.สุทธิพงษ์ ทวีลาภ คุณครูใยฟ้า หาญมนตรี (โรงเรียนนครพนมวิทยาคม) และคุณครูพัสกร กมลรัตน์ (โรงเรียนเลยพิทยาคม) ตัวแทนจากสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) เฝ้าสังเกตการณ์และช่วยดูแลนักเรียน
ตลอดระยะเวลาการเรียนการสอนภาคทฤษฎีและปฏิบัติ 10 วัน มีคณาจารย์ผู้ร่วมสอนจาก จากสาขาเทคโนโลยีธรณี คณะเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยขอนแก่น ประกอบด้วย
- ผศ.นุศรา สุระโคตร สอนด้านซากดึกดำบรรพ์และทรัพยากรปิโตรเลียม
- ดร.พิทักษ์สิทธิ์ ดิษบรรจง สอนด้านหินตะกอน ลำดับชั้นหิน และเทคนิคการสำรวจภาคสนาม
- ผศ.ดร.วิมลทิพย์ สิงห์เถื่อน สอนด้านแร่ หินอัคนี-หินแปร วัสดุธรณี และทรัพยากรแหล่งแร่
- ดร.สุทธิพงษ์ ทวีลาภ สอนด้านธรณีสัณฐาน อุทกวิทยา และการจัดการทรัพยากรน้ำ
- อ.ณัฐวุฒิ หอมทอง สอนด้านแผนที่ภูมิประเทศ แผนที่ธรณีวิทยา และการสำรวจระยะไกล
ร่วมกับอาจารย์พิเศษ ดร.ไชยพงษ์ เรืองสุวรรณ จากสาขาฟิสิกส์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ร่วมให้ความรู้แก่นักเรียนด้านอุตุนิยมวิทยาและดาราศาสตร์
การออกภาคสนามทางธรณีวิทยา 3 วัน ได้รับเกียรติจากท่าน ผศ.ดร.อารยา เชาว์เรืองฤทธิ์ คณบดีคณะเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยขอนแก่น ผศ.นุศรา สุระโคตร รองคณบดีฝ่ายวิชาการ พัฒนานักศึกษาและศิษย์เก่าสัมพันธ์ คณะเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยขอนแก่น ผศ.เกียรติศักดิ์ ศรภิรมย์ หัวหน้าสาขาวิชาเทคโนโลยีธรณีและประธานศูนย์ฯ ผศ.ดร.วิมลทิพย์ สิงห์เถื่อน เลขานุการศูนย์ฯ และ ดร.สุทธิพงษ์ ทวีลาภ ร่วมกับ คุณครูใยฟ้า หาญมนตรี และคุณครูพัสกร กมลรัตน์ ให้ความรู้ทางธรณีวิทยาในจังหวัดขอนแก่น ซึ่งแบ่งเป็น 3 เส้นทาง ได้แก่
- อุทยานแห่งชาติภูผาม่าน
ศึกษาตะกอนทางน้ำกึ่งแข็งตัว การเกิดไม้กลายเป็นหิน ลักษณะหินทรายหมวดหินพระวิหารและลักษณะภูมิลักษณ์ต่าง ๆ รวมทั้งทรัพยากรน้ำและการจัดการน้ำของเขื่อนอุบลรัตน์อย่างคร่าว
- อุทยานแห่งชาติภูเวียงและวัดถ้ำกวาง
ศึกษาซากดึกดำบรรพ์ไดโนเสาร์ ซากดึกดำบรรพ์หอยในหินทรายเนื้อปูน ลักษณะของหินเนื้อประสมที่สะสมตัวบนบก การสำรวจแหล่งแร่ยูเรเนียม และลักษณะภูมิลักษณ์ของหินทรายหมวดหินเสาขรัว กลุ่มหินโคราช อีกทั้งยังได้เรียนรู้และสังเกตการณ์วัฒนธรรมบุญบั้งไฟของชาวเวียงเก่า
- บ่อกรวดไม้กลายเป็นหิน-อุทยานแห่งชาติน้ำพอง(หินช้างสี)-เขื่อนอุบลรัตน์
ศึกษาหินปูนและซากดึกดำบรรพ์อายุเพอร์เมียน ลักษณะภูมิประเทศและภูมิลักษณ์ของหินตะกอนคาร์บอเนต การหาตำแหน่งตนเองในแผนที่ รวมทั้งทรัพยากรน้ำและธรณีพิบัติภัยที่เกิดในหินปูนแบบเบื้องต้น
การสอบภาคปฏิบัติและภาคทฤษฎีถูกจัดขึ้นเป็นระยะเวลา 2 วัน สำหรับคัดเลือกนักเรียนผู้แทนศูนย์ฯ
โครงการโอลิมปิกวิชาการ สอวน. วิทยาศาสตร์โลกและอวกาศ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จัดเป็นโครงการภายใต้ความร่วมมือของสาขาวิชาเทคโนโลยีธรณี คณะเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยขอนแก่น ร่วมกับมูลนิธิส่งเสริมโอลิมปิกวิชาการและพัฒนามาตรฐานวิทยาศาสตร์ศึกษาในพระอุปถัมภ์สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอเจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ (สอวน.) และสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ซึ่งสามารถเป็นส่วนหนึ่งของกิจกรรมที่จะนำไปสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน (Sustainable Development) ในมิติต่างๆ โดยเฉพาะระบบโลกและการร่วมมือระดับสากล ได้แก่
เป้าหมายที่ 4: สร้างหลักประกันว่าทุกคนมีการศึกษาที่มีคุณภาพอย่างครอบคลุมและเท่าเทียม และสนับสนุนโอกาสในการเรียนรู้ตลอดชีวิต
เป้าหมายที่ 6: สร้างหลักประกันว่าจะมีการจัดให้มีน้ำและสุขอนามัยสำหรับทุกคนและมีการบริหารจัดการที่ยั่งยืน
เป้าหมายที่ 13: เร่งต่อสู้กับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและผลกระทบที่เกิดขึ้น
เป้าหมายที่ 15: ปกป้อง ฟื้นฟู และสนับสนุนการใช้ระบบนิเวศบนบกอย่างยั่งยืน และหยุดการสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพ
เป้าหมายที่ 17: เสริมความเข้มแข็งให้แก่กลไกการดำเนินงานและฟื้นฟูสภาพหุ้นส่วนความร่วมมือสำหรับการพัฒนาที่ยั่งยืน