คณะเทคโนโลยี มข. ร่วมผนึกกำลังหน่วยงานชาติ เดินหน้าฉลอง 50 ปีการค้นพบไดโนเสาร์ไทย ผลักดันขอนแก่น–กาฬสินธุ์สู่เมืองธรณีวิทยาอาเซียน

เมื่อวันที่ 16 พฤษภาคม 2568 เวลา 13.30 – 16.30 น. ณ ห้องประชุมพุทธศิลป์ คุ้มสีฐาน มหาวิทยาลัยขอนแก่น คณะเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยขอนแก่น นำโดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.อารยา เชาว์เรืองฤทธิ์ คณบดีคณะเทคโนโลยี พร้อมด้วย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ เกียรติศักดิ์ ศรภิรมย์ หัวหน้าสาขาวิชาเทคโนโลยีธรณี, และอาจารย์ ดร.พิทักษ์สิทธิ์ ดิษบรรจง  เข้าร่วมประชุมความร่วมมือกับหน่วยงานภาครัฐและเอกชนระดับจังหวัดและระดับชาติ เพื่อหารือแนวทางการจัดกิจกรรมเฉลิมฉลองวาระสำคัญ “ครบรอบ 50 ปีการค้นพบฟอสซิลไดโนเสาร์ครั้งแรกของประเทศไทย

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.อารยา เชาว์เรืองฤทธิ์ คณบดีคณะเทคโนโลยี, ผู้ช่วยศาสตราจารย์ เกียรติศักดิ์ ศรภิรมย์
รองศาสตราจารย์ ดร.นิยม วงศ์พงษ์คำ รองอธิการบดีฝ่ายศิลปวัฒนธรรมและเศรษฐกิจสร้างสรรค์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น

การประชุมได้รับเกียรติจาก รองศาสตราจารย์ ดร.นิยม วงศ์พงษ์คำ รองอธิการบดีฝ่ายศิลปวัฒนธรรมและเศรษฐกิจสร้างสรรค์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น เป็นประธานในที่ประชุม โดยมีผู้แทนจากหน่วยงานสำคัญเข้าร่วม อาทิ องค์การบริหารส่วนจังหวัดขอนแก่น, สำนักงานจังหวัดขอนแก่น, สำนักงานท่องเที่ยวและกีฬาจังหวัดขอนแก่น, อุทยานแห่งชาติภูเวียง, ศูนย์ศึกษาวิจัยและพิพิธภัณฑ์ไดโนเสาร์ภูเวียง, พิพิธภัณฑ์สิรินธร, องค์การบริหารส่วนจังหวัดกาฬสินธุ์, สภาอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวจังหวัดขอนแก่น, สมาคมไมซ์และการท่องเที่ยวจังหวัดขอนแก่น และศูนย์ศิลปะขอนแก่นแกลลอรี่

ภายใต้แนวคิด “ไดโนเสาร์และอุทยานธรณี” การประชุมครั้งนี้มีเป้าหมายเพื่อวางกรอบแนวทางการจัดกิจกรรมเชิงสร้างสรรค์ในช่วงปี พ.ศ. 2569 – 2570 ที่จะยกระดับจังหวัดขอนแก่นและกาฬสินธุ์ให้เป็น “เมืองไดโนเสาร์” บนเวทีโลก ด้วยการเชื่อมโยงจุดแข็งด้านธรณีวิทยาเข้ากับเศรษฐกิจสร้างสรรค์และการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน

กิจกรรมที่อยู่ระหว่างการออกแบบประกอบด้วย การประกวดภาพถ่ายเกี่ยวกับไดโนเสาร์ การจัดมหกรรมอาหารไดโนเสาร์ การจัดเทศกาลภาพยนตร์เชิงวิทยาศาสตร์ เทศกาลดนตรี และการแสดงแฟชั่นโชว์ในธีมไดโนเสาร์ ซึ่งจะกระจายจัดขึ้นในพื้นที่สำคัญ ได้แก่ มหาวิทยาลัยขอนแก่น, อุทยานธรณีขอนแก่น และอุทยานธรณีกาฬสินธุ์

กิจกรรมเหล่านี้จะถูกจัดขึ้นกระจายตามพื้นที่สำคัญ ได้แก่ มหาวิทยาลัยขอนแก่น, อุทยานธรณีขอนแก่น และอุทยานธรณีกาฬสินธุ์ เพื่อสร้างการมีส่วนร่วมของชุมชน วิชาการ และภาคธุรกิจ

โครงการดังกล่าวมุ่งเน้นการสร้างอัตลักษณ์ด้านธรณีวิทยาของภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน โดยใช้จุดเริ่มต้นจากการค้นพบซากฟอสซิลไดโนเสาร์ในประเทศไทยเมื่อ 50 ปีก่อน เป็นฐานในการขับเคลื่อนสู่การพัฒนาทางวิชาการ เศรษฐกิจสร้างสรรค์ และการท่องเที่ยวอย่างเป็นระบบ

ทั้งนี้ ที่ประชุมมีมติร่วมกันว่า จะมีการประชุมเพิ่มเติมในระยะต่อไปเพื่อสรุปรายละเอียดเชิงปฏิบัติ และกำหนดปฏิทินกิจกรรมอย่างเป็นทางการ เพื่อให้โครงการสามารถขับเคลื่อนได้อย่างมีประสิทธิภาพและบรรลุผลตามเป้าหมาย

ข่าว : ประทีป เทวงษา

ภาพจาก :Khon Kaen Geopark อุทยานธรณีขอนแก่น , ศูนย์ศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยขอนแก่น KKU Art&Culture Center