คณะเทคโนโลยี มข. ไขปริศนาทำไมน้ำผุดทัพลาวขุ่นขึ้นหลังแผ่นดินไหว

คณะเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยขอนแก่น  รศ.ดร.วิมลทิพย์ สิงห์เถื่อน อาจารย์ประจำสาขาวิชาเทคโนโลยีธรณี คณะเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยขอนแก่น เปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับปรากฏการณ์น้ำผุดทัพลาวในอำเภอคอนสาร จังหวัดชัยภูมิ ที่มีลักษณะขุ่นขึ้นหลังเหตุการณ์แผ่นดินไหวครั้งใหญ่ (Mandalay Earthquake 2025) เมื่อวันที่ 28 มีนาคม 2568

น้ำผุดทัพลาวตั้งอยู่ในพื้นที่อุทยานธรณีชัยภูมิ ซึ่งเป็นมรดกธรณีที่สำคัญของภาคตะวันออกเฉียงเหนือและมีความโดดเด่นด้าน karst hydrogeology ในระดับสากล โดยหลังเหตุการณ์แผ่นดินไหว พบว่าคุณลักษณะของน้ำผุดมีการเปลี่ยนแปลงไป โดยเฉพาะเรื่องความขุ่นของน้ำ

สาเหตุหลักของการเปลี่ยนแปลงนี้เกิดจากแรงสั่นสะเทือนของแผ่นดินไหวที่ทำให้ดินและตะกอนใต้ดินเคลื่อนตัวและผสมกับน้ำใต้ดิน อนุภาคของดินเหนียว ทราย และตะกอนละเอียดที่สะสมอยู่ใต้ดินถูกพัดพาขึ้นมาตามช่องว่างของชั้นดินและแหล่งน้ำใต้ดิน ทำให้สีของน้ำเปลี่ยนไปและมีความขุ่นมากขึ้น

รศ.ดร.วิมลทิพย์ สิงห์เถื่อน อาจารย์ประจำสาขาวิชาเทคโนโลยีธรณี คณะเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยขอนแก่น

กลไกทางธรณีวิทยาที่ทำให้น้ำขุ่นขึ้น

  1. ดินเหลว (Soil Liquefaction) – เมื่อเกิดแรงสั่นสะเทือนอย่างรุนแรง ดินที่อยู่ในสภาวะอิ่มน้ำอาจสูญเสียความแข็งแรงชั่วคราวและมีพฤติกรรมคล้ายของเหลว ส่งผลให้ตะกอนดินถูกดันขึ้นมาตามช่องทางของน้ำใต้ดิน
  2. การเปลี่ยนแปลงของแรงดันรูพรุน (Pore Water Pressure) – แผ่นดินไหวสามารถส่งผลให้แรงดันน้ำใต้ดินเปลี่ยนแปลงอย่างฉับพลัน โดยเฉพาะในชั้นน้ำบาดาลแบบ confined และ unconfined ซึ่งสามารถดันน้ำขึ้นมาพร้อมพาตะกอนขึ้นสู่ผิวดิน

พื้นที่น้ำผุดทัพลาวมีโครงสร้างทางธรณีวิทยาที่เป็นเอกลักษณ์ โดยภูมิประเทศเป็นลักษณะคาสต์ (karst) ประกอบด้วยหมวดหินผานกเค้า (หินปูนเนื้อดิน) ที่สามารถกักเก็บน้ำใต้ดินได้ดี น้ำใต้ดินจะไหลผ่านช่องว่างในชั้นหินจนกระทั่งไปสัมผัสกับหมวดหินหัวนาคำ (หินดินดานและหินทรายแป้ง) ซึ่งเป็นชั้นหินทึบน้ำ ทำให้น้ำไหลผุดขึ้นมาตามแนวสัมผัสระหว่างชั้นหิน

นอกจากน้ำผุดทัพลาวแล้ว ยังมีแหล่งน้ำผุดอื่น ๆ ในบริเวณอำเภอคอนสาร เช่น น้ำผุดนาเลา น้ำผุดนาวงเดือน ธารน้ำผุดอิงภู และน้ำผุดหินลาด ซึ่งเป็นแหล่งน้ำสำคัญที่ไหลรวมกันเป็นลำห้วยในพื้นที่ตำบลห้วยยาง ดงกลาง และโนนคูณ อำเภอคอนสาร จังหวัดชัยภูมิ

การศึกษาปรากฏการณ์นี้ช่วยให้เข้าใจถึงผลกระทบของแผ่นดินไหวต่อระบบน้ำใต้ดินและเป็นองค์ความรู้ที่สามารถนำไปใช้ในการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำและป้องกันผลกระทบในอนาคตได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ข้อมูลวิชาการ Singtuen, V., Nulay, P., Kaweera, A., Charoentitirat, Th., Phajuy, B. (2024) Geoheritage Characterisation of Thap Lao Karst Spring in Chaiyaphum Geopark, Northeastern Thailand for Sustainable Geotourism Development. Geoheritage, 16, 113. https://doi.org/10.1007/s12371-024-01021-0.
ขอบคุณภาพจาก : FB : Khon Kaen Update และ FB : สวนรุกขชาติน้ำผุดทัพลาว จังหวัดชัยภูมิ