
เมื่อวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2568 ผศ.ดร.พิมพ์นิภา หิรัณย์สร หัวหน้าสาขาเทคโนโลยีการอาหาร คณะเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยขอนแก่น ให้สัมภาษณ์กับ The Cloud เกี่ยวกับ “ซามะดุล” (SAMADUL FOODS) ธุรกิจผลิตอาหารเหลวเพื่อผู้ป่วยที่มีภาวะกลืนลำบาก (Dysphagia) โดยมีที่มาจากการวิจัยและพัฒนาโดยคณาจารย์ นักศึกษา และแพทย์จากมหาวิทยาลัยขอนแก่น
จุดเริ่มต้นจากประสบการณ์ส่วนตัวสู่การพัฒนานวัตกรรมอาหาร
แนวคิดในการพัฒนา “ซามะดุล” เริ่มต้นจากประสบการณ์ของ ผศ.ดร.พิมพ์นิภา หรือที่รู้จักกันในชื่อ “อาจารย์น้ำผึ้ง” ซึ่งเคยดูแลญาติที่ป่วยเป็นมะเร็งระยะสุดท้าย และพบปัญหาผู้ป่วยสูญเสียความอยากอาหาร รวมถึงมีภาวะกลืนลำบาก ส่งผลให้ร่างกายได้รับสารอาหารไม่เพียงพอและภูมิคุ้มกันอ่อนแอลง ด้วยความเชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีอาหาร อาจารย์น้ำผึ้งจึงตั้งใจพัฒนาอาหารที่สามารถช่วยให้ผู้ป่วยได้รับสารอาหารครบถ้วนและช่วยเพิ่มคุณภาพชีวิต

แรงบันดาลใจจากภูมิปัญญาไทยและพุทธศาสนา
การพัฒนาอาหารเหลวสูตรเฉพาะนี้ได้รับแรงบันดาลใจจากข้าวมธุปายาส ซึ่งเป็นอาหารที่มีสารอาหารครบถ้วนและปรากฏในพุทธประวัติ อาจารย์น้ำผึ้งจึงนำมาประยุกต์ใช้โดยเลือกใช้ส่วนผสมจากพืช (Plant-based) เช่น นมข้าวกล้อง แทนนมวัว เพื่อลดความเสี่ยงในการเกิดเสมหะที่อาจนำไปสู่ภาวะสำลัก
การสนับสนุนจากแพทย์และงานวิจัยสากล
พญ.ภัทรา วัฒนพันธุ์ แพทย์ด้านเวชศาสตร์ฟื้นฟู โรงพยาบาลศรีนครินทร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น เป็นหนึ่งของผู้ร่วมทำวิจัย และได้รับคำแนะนำ พัฒนาร่วมกับแพทย์และทีมนักกิจกรรมบำบัด เกี่ยวกับโภชนาการสำหรับผู้ป่วยภาวะกลืนลำบาก โดยอ้างอิงเกณฑ์มาตรฐานของ The International Dysphagia Diet Standardization Initiative (IDDSI) ซึ่งช่วยกำหนดระดับเนื้อสัมผัสของอาหารให้เหมาะสมกับสภาพร่างกายของผู้ป่วย

จากเวทีแข่งขันสู่นวัตกรรมที่ได้รับการยอมรับ
“ซามะดุล” เริ่มต้นจากการเข้ารอบ 8 ทีมสุดท้ายจากการแข่งขัน Food Innopolis Innovation Contest แม้ครั้งนั้นไม่ได้รับรางวัลใดมาครอง แต่ เป็นก้าวที่ได้รับโอกาสเข้าร่วมโครงการ Forefood Acceleration จึงได้หลักคิดมาพัฒนางานวิจัยต่อไปร่วมกันกับทีมแพทย์และนักกิจกรรมบำบัด จนสามารถต่อยอดพัฒนาผลิตภัณฑ์ด้วยองค์ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และคว้ารางวัล Silver Medal จากเวที The 48th International Exhibition of Inventions Geneva ณ นครเจนีวา ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ในปี 2566
มุ่งสู่อนาคตของอาหารเพื่อสุขภาพ
ปัจจุบัน “ซามะดุล” ไม่เพียงแต่เป็นนวัตกรรมอาหารที่ช่วยให้ผู้ป่วยภาวะกลืนลำบากได้รับสารอาหารที่เพียงพอ แต่ยังคำนึงถึงรสชาติและประสบการณ์ของผู้บริโภค อาจารย์น้ำผึ้งและทีมวิจัยยังคงเดินหน้าพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้ดียิ่งขึ้น พร้อมขยายการเข้าถึงให้กับผู้ที่ต้องการทั่วประเทศ และก้าวสู่ระดับสากลต่อไป




ข่าว : ประทีป เทวงษา