เมื่อวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2568 สาขาวิชาเทคโนโลยีธรณี คณะเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยขอนแก่น จัดพิธีเปิด “ค่ายวิชาการ Geo Explosive Camp (GEC)” ประจำปีการศึกษา 2567 โดยมี ผศ.ดร.อารยา เชาว์เรืองฤทธิ์ คณบดีคณะเทคโนโลยี เป็นประธานในพิธี พร้อมด้วย ผศ.นุศรา สุระโคตร รองคณบดีฝ่ายการศึกษา พัฒนานักศึกษาและศิษย์เก่าสัมพันธ์ และ ผศ.เกียรติศักดิ์ ศรภิรมย์ หัวหน้าสาขาวิชาเทคโนโลยีธรณี ร่วมกล่าวเปิดค่าย ในการนี้มีนักเรียนระดับมัธยมศึกษาตอนปลายจากโรงเรียนต่างๆ เข้าร่วมกิจกรรมจำนวน 30 คน และนักศึกษาสาขาวิชาเทคโนโลยีธรณีอีกกว่า 70 คน ร่วมกิจกรรม ณ บริเวณพิพิธภัณฑ์ธรณีวิทยา สาขาวิชาเทคโนโลยีธรณี มหาวิทยาลัยขอนแก่น
รศ.ดร.วิมลทิพย์ สิงห์เถื่อน หัวหน้าโครงการและอาจารย์ที่ปรึกษาค่ายวิชาการ กล่าวรายงานว่า ค่ายวิชาการ GEC ถูกจัดขึ้นครั้งแรกเมื่อปี 2564 และปีนี้เป็นปีที่ 4 ที่กิจกรรมถูกจัดขึ้นเพื่อส่งเสริมวิชาการให้นักเรียนที่สนใจธรณีวิทยาจากทั่วภูมิภาคของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และสนับสนุนทักษะการทำงานให้แก่นักศึกษาสาขาวิชาเทคโนโลยีธรณี ค่ายนี้จัดขึ้นโดยชุมนุมนักศึกษาเทคโนโลยีธรณี ภายใต้การดูแลของอาจารย์เพื่อนักเรียนที่สนใจเรียนรู้ธรณีวิทยาอย่างแท้จริง โดยนักศึกษาได้ฝึกการทำงานในทุกกระบวนการ ตั้งแต่การวางแผน การลงมือปฏิบัติจริง และการถ่ายทอดประสบการณ์ผ่านฝ่ายต่างๆ เช่น ฝ่ายวิชาการ ฝ่ายการเงิน ฝ่ายเอกสาร ฝ่ายกราฟิกและออกแบบ ฝ่ายสวัสดิการ ฝ่ายอาคารและสถานที่ ฝ่ายโสตทัศนูปกรณ์ และฝ่ายช่างภาพ
ค่ายวิชาการ GEC ปีนี้ได้รับการสนับสนุนจากหลายหน่วยงาน องค์กร และบริษัท ได้แก่ บริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน), ชมรมศิษย์เก่าเทคโนโลยีธรณี, มูลนิธิ ธันวารชร, บริษัท ช.นิยม จำกัด, บริษัท บำรุงเทพการศิลา จำกัด, บริษัท พรราชันย์ จำกัด, บริษัท ร็อค แอนด์ มิเนอรัล ไมนิ่ง คอนซัลแทนท์ จำกัด, บริษัท พรหมมังกร จำกัด, บริษัท ทรูสโตน จำกัด, บริษัท แลคตาซอย จำกัด, สำนักทรัพยากรน้ำบาดาลเขต 4 ขอนแก่น, กรมทรัพยากรธรณี และท่านคณบดีที่ร่วมสนับสนุนนมและเครื่องดื่ม

ผศ.ดร.อารยา เชาว์เรืองฤทธิ์ คณบดีคณะเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยขอนแก่น กล่าวว่า ค่ายวิชาการ GEC นี้สอดคล้องกับยุทธศาสตร์มหาวิทยาลัยขอนแก่น พ.ศ. 2568-2571 ในด้านการปรับเปลี่ยนการจัดการศึกษา การบริหารจัดการทรัพยากรบุคคล และการเข้าสู่ยุคดิจิทัล ซึ่งไม่เพียงแต่เป็นการถ่ายทอดความรู้ทางธรณีวิทยาเท่านั้น แต่ยังเป็นการสร้างแรงบันดาลใจให้เยาวชนเห็นถึงความสำคัญของศาสตร์ด้านนี้ที่เชื่อมโยงกับการพัฒนาที่ยั่งยืน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในมิติของ SDG 4 ด้านการศึกษาที่มีคุณภาพ, SDG 13 ด้านการรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และ SDG 15 ด้านการใช้ประโยชน์จากระบบนิเวศทางบกอย่างยั่งยืน ซึ่งล้วนเป็นประเด็นที่เกี่ยวข้องกับธรณีวิทยาโดยตรง
ค่าย GEC ครั้งนี้จัดขึ้นระหว่างวันที่ 21-23 กุมภาพันธ์ 2568 โดยมีกิจกรรมหลากหลาย ทั้งภาคทฤษฎีและภาคปฏิบัติ ในวันแรก (21 กุมภาพันธ์) เน้นกิจกรรมนันทนาการเพื่อละลายพฤติกรรม และการเรียนรู้ภาคปฏิบัติเกี่ยวกับแร่ หิน ฟอสซิล แผนที่ธรณีสัณฐาน และการใช้กล้องจุลทรรศน์ พร้อมเยี่ยมชมห้องปฏิบัติการวิศวกรรมธรณี
วันที่สอง (22 กุมภาพันธ์) เป็นการทัศนศึกษาภาคสนามที่วัดเขื่อนอุบลรัตน์เพื่อศึกษาหมวดหินพระวิหาร, การทำงานของเขื่อนอุบลรัตน์, วัดป่าทำหัวช้างเพื่อศึกษาหมวดหินโคกกรวด และการศึกษาการสะสมตัวของตะกอนบริเวณแม่น้ำและอุตสาหกรรมเซรามิก ก่อนกลับมาทำกิจกรรมกลุ่มในช่วงค่ำ
วันสุดท้าย (23 กุมภาพันธ์) เป็นกิจกรรมสรุปความรู้และประสบการณ์ที่ได้รับจากค่าย พร้อมทั้งมอบประกาศนียบัตรแก่ผู้เข้าร่วมโครงการ
การจัดค่ายครั้งนี้นอกจากจะเป็นการสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับวิชาชีพทางธรณีวิทยาแล้ว ยังเป็นการสร้างเครือข่ายระหว่างอาจารย์ บุคลากร นักศึกษา และนักเรียนที่สนใจศึกษาต่อในสาขานี้ ซึ่งจะนำไปสู่การดึงดูดผู้มีความสามารถสูงให้เข้ามาศึกษาต่อในสาขาวิชาเทคโนโลยีธรณี มหาวิทยาลัยขอนแก่น เพื่อเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาประเทศต่อไปในอนาคต