คณะเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยขอนแก่น นำโดย ผศ.ดร.อารยา เชาว์เรืองฤทธิ์ คณบดีคณะเทคโนโลยี และ ผศ.นุศรา สุระโคตร รองคณบดีฝ่ายการศึกษา พัฒนานักศึกษาและศิษย์เก่าสัมพันธ์ พร้อมด้วยคณาจารย์ นักศึกษา และศิษย์เก่าเทคโนโลยีธรณี มข. เข้าร่วมงานการประชุมวิชาการเครือข่ายอุทยานธรณีไทย ครั้งที่ 3 (Thailand Geopark Network Symposium 2024) ซึ่งจัดขึ้นระหว่างวันที่ 24-25 มิถุนายน 2567 ณ โรงแรมโฆษะ จังหวัดขอนแก่น โดยมีอุทยานธรณีขอนแก่นเป็นเจ้าภาพร่วมกับกรมทรัพยากรธรณี องค์การบริหารส่วนจังหวัดขอนแก่น และคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม (หน่วยวิจัยไดโนเสาร์)
การประชุมครั้งนี้ได้รับเกียรติจากอธิบดีกรมทรัพยากรธรณีและรองผู้ว่าราชการจังหวัดขอนแก่นเป็นประธานเปิดงาน นอกจากนี้ยังมีผู้ทรงคุณวุฒิทั้งในและต่างประเทศเข้าร่วมประชุม รวมถึงผู้เชี่ยวชาญด้านไดโนเสาร์และผู้ค้นพบไดโนเสาร์ของประเทศไทย เช่น ดร.วราวุธ สุธีธร, ดร.นเรศ สัตยารักษ์, คุณสุธรรม แย้มนิยม และคุณรุจา อิงคะวัต ร่วมเสวนาวิชาการง
คณะเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยขอนแก่น ถือเป็นภาคีเครือข่ายสำคัญของอุทยานธรณีขอนแก่นในการผลักดันอุทยานธรณีขอนแก่นสู่อุทยานธรณีโลก โดย ผศ.ดร.วิมลทิพย์ สิงห์เถื่อน จากสาขาวิชาเทคโนโลยีธรณี ได้ร่วมทำการวิจัยด้านธรณีวิทยาและการท่องเที่ยวเชิงธรณีในพื้นที่ ในฐานะ Geoscientific Staff ของอุทยานธรณีขอนแก่น นอกจากนี้ยังมีการส่งเสริมกิจกรรมการเรียนรู้ของนักเรียนและนักศึกษาผ่านค่ายวิชาการ การทำโปรเจคต์ การค้นคว้าอิสระ และโครงงานนักเรียนระดับมัธยมศึกษา ซึ่งได้นำมาเสนอในรูปแบบโปสเตอร์ในงานประชุมครั้งนี้ด้วย
นอกจากนี้ อ.ดร.พิทักษ์สิทธิ์ ดิษบรรจง จากสาขาวิชาเทคโนโลยีธรณี ก็มีบทบาทสำคัญในการศึกษาวิจัยพื้นที่อุทยานธรณีกาฬสินธุ์ โดยในการประชุมครั้งนี้มีการนำเสนองานวิจัยของอาจารย์และนักศึกษาระดับปริญญาตรีจากสาขาวิชาเทคโนโลยีธรณีในหลากหลายประเด็นเกี่ยวกับอุทยานธรณีในประเทศไทย
อุทยานธรณี คือ พื้นที่ที่รวมแหล่งธรณีวิทยาและสภาพภูมิประเทศที่มีความสำคัญทางธรณีวิทยา โดยมีการบริหารจัดการแบบองค์รวม ประกอบด้วยการคุ้มครอง การให้การศึกษา และการพัฒนาอย่างยั่งยืน อุทยานธรณีต้องเชื่อมโยงกับทรัพยากรด้านอื่นๆ ในพื้นที่ เช่น ธรรมชาติวิทยา วัฒนธรรม และมรดกที่จับต้องไม่ได้
ปัจจุบันประเทศไทยมีอุทยานธรณีทั้งหมด 11 แห่ง ได้แก่ อุทยานธรณีโลกสตูล, อุทยานธรณีโลกโคราช, อุทยานธรณีอุบลราชธานี, อุทยานธรณีเพชรบูรณ์, อุทยานธรณีขอนแก่น, อุทยานธรณีไม้กลายเป็นหินตาก (จ.ตาก), อุทยานธรณีชัยภูมิ, อุทยานธรณีพุหางนาค (จ.สุพรรณบุรี), อุทยานธรณีกาฬสินธุ์, อุทยานธรณีเชียงราย และอุทยานธรณีลำปาง
ข้อมูลข่าว/ภาพ : ผศ.ดร.วิมลทิพย์ สิงห์เถื่อน