ค่ายวิชาการ Geo Explosive Camp 2024: Adventure in ISAN Sea เทคโนโลยีธรณี มข. พานักเรียน ม.ปลาย ตะลุยทะเล(โบราณ)อีสาน

เมื่อวันที่ 16  กุมภาพันธ์ 2567 คณะเทคโนโลยี มข. โดยชุมนุมนักศึกษาสาขาวิชาเทคโนโลยีธรณี คณะเทคโนโลยี ได้จัดค่ายวิชาการ Geo Explosive Camp 2024 ประจำปีการศึกษา 2566 ในประเด็น “Adventure in ISAN Sea” หรือ การผจญภัยในทะเลอีสาน” ที่สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ ที่ 1 ปรับเปลี่ยนการจัดการศึกษา (Education Transformation)  กิจกรรมจัดขึ้นระหว่างวันที่ 16-18 กุมภาพันธ์ 2567 ซึ่งได้รับเกียรติจาก ผู้ช่วยศาสตราจารย์นุศรา สุระโคตร รองคณบดีฝ่ายวิชาการ พัฒนานักศึกษาและศิษย์เก่าสัมพันธ์ คณะเทคโนโลยี กล่าวเปิดงานและต้อนรับนักเรียนระดับมัธยมศึกษาตอนปลายจำนวน 30 คน จาก 20 กว่าจังหวัดทั่วประเทศ ซึ่งผ่านการคัดเลือกจากผู้สมัครกว่า 100 คน โดยมีนางสาวจุฑาทิพย์ คนหมั่น นักศึกษาชั้นปีที่ 3 ประธานค่ายฯ เป็นหัวหน้าผู้ดำเนินการ ภายใต้การดูแลของผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.วิมลทิพย์ สิงห์เถื่อน ค่ายวิชาการนี้จัดขึ้นเพื่อศึกษาเรียนรู้ศาสตร์ด้านเทคโนโลยีธรณีและธรณีวิทยาขั้นพื้นฐาน ทั้งแร่วิทยา ศิลาวิทยา แผนที่ ธรณีสัณฐาน ซากดึกดำบรรพ์ การศึกษาแร่ภายใต้กล้องจุลทรรศน์ อุทกธรณี และวิศวกรรมธรณี

เรียนรู้ธรณีสัณฐานของภาคอีสาน ลักษณะหิน น้ำผุดทัพลาว อ.คอนสาร จ.ชัยภูมิ

ในวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2567 ได้มีการศึกษาธรณีวิทยาภาคสนามตลอดเส้นทางหมายเลข 12 หรือถนนมะลิวัลย์ไปถึงน้ำผุดทัพลาว อำเภอคอนสาร ที่เป็นส่วนหนึ่งของอุทยานธรณีชัยภูมิ เพื่อเรียนรู้ธรณีสัณฐานของภาคอีสาน ลักษณะหินของกลุ่มหินโคราชและกลุ่มหินสระบุรี การเกิดน้ำผุดทัพลาว การวิเคราะห์คุณภาพน้ำเบื้องต้น ซากดึกดำบรรพ์ท้องทะเลยุคเพอร์เมียนหรือประมาณ 260-280 ล้านปีก่อน ถ้ำและภูมิประเทศแบบคาสต์ การระบุตำแหน่งในแผนที่ และการทำภาพตัดขวางภูมิประเทศแบบแอ่ง ซึ่งได้รับการสนับสนุนด้านสถานที่จากสวนรุกขชาติน้ำผุดทัพลาวและวิทยากรพิเศษคุณอดุลวิทย์ กาวีระ นักธรณีวิทยา จากสำนักทรัพยากรธรณี เขต 2 ขอนแก่น นอกจากนี้ในวันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2567 ยังมีการจัดกิจกรรมกลุ่มเพื่อศึกษาและอภิปรายการจัดการทรัพยากรธรณีเชิงพื้นที่สู่การยั่งยืนอีกด้วย

“ธรณีวิทยาเป็นวิชาที่ศึกษาเกี่ยวกับองค์ประกอบ โครงสร้าง และกระบวนการตามธรรมชาติของโลกตลอดจนเหตุการณ์ภัยพิบัติทางธรรมชาติที่เกิดขึ้นซึ่งจะเห็นได้ว่าการศึกษาทางธรณีวิทยามีบทบาทอย่างมากในสังคมและได้รับความสนใจเป็นอย่างมากในปัจจุบัน หากแต่สังคมยังขาดความรู้ความเข้าใจอย่างถ่องแท้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งนักเรียนในชั้นมัธยมศึกษายังขาดองค์ความรู้ ไม่ทราบถึงบทบาทและหน้าที่ของผู้ประกอบวิชาชีพทางธรณีวิทยา ซึ่งมีผลต่อการเลือกศึกษาต่อในระดับอุดมศึกษา ดังนั้นสาขาวิชาเทคโนโลยีธรณี คณะเทคโนโลยีธรณี มหาวิทยาลัยขอนแก่น ได้เล็งเห็นถึงความสำคัญในการแก้ปัญหาการขาดความรู้ความเข้าใจถึงมุมมองวิชาชีพ และองค์ความรู้ทางธรณีวิทยา ประกอบกับการสนับสนุนกิจกรรมชุมนุมนักศึกษาสาขาวิชาเทคโนโลยีธรณี ให้มีกิจกรรมประชาสัมพันธ์ ให้ความรู้ด้านวิชาการและตอบปัญหา/ข้อสงสัยเกี่ยวกับข้อมูลทางธรณีวิทยา นักศึกษาสาขาวิชาเทคโนโลยีธรณีจึงได้จัดทำโครงการค่ายวิชาการ Geo Explosive Camp 2024 เพื่อถ่ายทอดความรู้ให้กับนักเรียนที่มีความสนใจ เพื่อสร้างมุมมองวิชาชีพและสร้างเสริมองค์ความรู้ทางด้านธรณีวิทยาสู่การบ่มเพาะว่าที่นักธรณีในอนาคต”

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.วิมลทิพย์ สิงห์เถื่อน บรรยายลักษณะหินของกลุ่มหินโคราชและกลุ่มหินสระบุรี 

ค่ายวิชาการ Geo Explosive Camp 2024 นี้ได้ช่วยให้นักศึกษาสาขาวิชาเทคโนโลยีธรณีถ่ายทอดความรู้วิชาชีพสู่สังคม ซึ่งนับเป็นกิจกรรมบริการวิชาการตอบแทนสู่สังคมที่ดีรูปแบบหนึ่งที่ช่วยให้เกิดการพัฒนาการศึกษาอย่างยั่งยืน และนักศึกษายังสามารถนำความรู้ที่ได้รับไปใช้เป็นแนวทางในการเตรียมความพร้อมและพัฒนาตนเอง

ซึ่งทางทีมงานจัดค่ายวิชาการ GEO Explosive Camp 2024 ต้องขอขอบคุณผู้สนับสนุนหลักอย่างเป็นทางการ ซึ่งประกอบด้วย

  • บริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) มอบเงินสนับสนุนหลักในการจัดการกิจกรรม
  • บริษัท ทรูสโตน จำกัด มอบเงินสนับสนุน
  • บริษัท บอส แลนด์ สปริง จำกัด มอบเงินสนับสนุน
  • มูลนิธิภักดี ธันวารชร และชมรมศิษย์เก่าเทคโนโลยีธรณี มข. สนับสนุนงบประมาณ
  • กองคุ้มครองซากดึกดำบรรพ์ กรมทรัพยากรธรณี มอบสื่อการสอนด้านธรณีวิทยา
  • บริษัท แลคตาซอย จำกัด สนับสนุนผลิตภัณฑ์นมถั่วเหลืองและอุปกรณ์เพื่อการศึกษา

ข้อมูลข่าว /ภาพ :  ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.วิมลทิพย์ สิงห์เถื่อน