โอลิมปิกวิชาการ

ศูนย์ สอวน. วิชาวิทยาศาสตร์โลกและอวกาศ
ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

สาขาวิชาเทคโนโลยีธรณี คณะเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยขอนแก่น

ค่ายวิทยาศาสตร์โลกและอวกาศ ปีการศึกษา 2567 (รุ่นที่ 5)

คัดเลือกตัวแทนเข้าแข่งขัน TESO ครั้งที่ 5 (โรงเรียนกำเนิดวิทย์, ระยอง)
คัดเลือกตัวแทนเข้าแข่งขัน IESO ครั้งที่ 18 (ยังไม่ประกาศประเทศ)

สอบคัดเลือก วันเสาร์ที่ 31 ส.ค. 2567 เวลา 9:00-12:00 น.

สนามสอบ

มีให้เลือก 4 แห่ง
(1) คณะเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยขอนแก่น จ.ขอนแก่น
(2) โรงเรียนราชสีมาวิทยาลัย จ.นครราชสีมา
(3) โรงเรียนสกลราชวิทยานุกูล จ.สกลนคร
(4) โรงเรียนเบ็ญจะมะมหาราช จ.อุบลราชธานี

คุณสมบัติของผู้สมัคร

กรุณาอ่านรายละเอียดในประกาศรับสมัครของศูนย์สำหรับข้อมูลที่ครบถ้วนและเป็นทางการ

  1. มีสัญชาติไทย
  2. เรียนอยู่ชั้น ม.3, ม.4, หรือ ม.5 ในสายวิทยาศาสตร์ และมีเกรดเฉลี่ยวิชาวิทยาศาสตร์ไม่น้อยกว่า 3.00 กรณีที่น้อยกว่า 3.00 นักเรียนจะต้องมีผลงานทางวิทยาศาสตร์ดีเด่นประกอบ โดยแสดงใบรับรองจากสถานศึกษา
  3. ศึกษาอยู่ในโรงเรียนเขตพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (20 จังหวัด ได้แก่ กาฬสินธุ์ ขอนแก่น ชัยภูมิ นครพนม นครราชสีมา บึงกาฬ บุรีรัมย์ มหาสารคาม มุกดาหาร ยโสธร ร้อยเอ็ด ศรีสะเกษ เลย สกลนคร สุรินทร์ หนองคาย หนองบัวลำภู อุดรธานี อุบลราชธานี และอำนาจเจริญ)
  4. สำหรับปีการศึกษา 2567 ผู้สมัครจะต้องเกิดระหว่างวันที่ 1 กรกฎาคม 2549 และวันที่ 1 กรกฎาคม 2553  (มีอายุไม่เกิน 18 ปี และไม่ต่ำกว่า 14 ปีบริบูรณ์ ในวันที่ 1 กรกฎาคม 2567)
  5. ไม่เคยเป็นผู้แทนประเทศไทยไปแข่งขันวิทยาศาสตร์โลกและอวกาศโอลิมปิกระหว่างประเทศ (International Earth Science Olympiad, IESO)
  6. นักเรียนที่เคยเป็นตัวแทนศูนย์โอลิมปิกวิชาการ วิชาวิทยาศาสตร์โลกและอวกาศ (ศูนย์ใดก็ได้ใน 7 ศูนย์ของประเทศ) และมีคุณสมบัติตรงตามข้อ 1-5 ข้างต้น เมื่อยืนใบสมัครแล้วจะได้รับการคัดเลือกให้เข้าร่วมค่ายโดยไม่ต้องสอบ ทั้งนี้ นักเรียนสามารถของดเว้นการเข้าร่วมค่ายที่ 1 ได้หากต้องการ แต่นักเรียนจะต้องเข้าร่วมค่ายที่ 2 เป็นระยะเวลาไม่น้อยกว่าร้อยละ 80 และเข้าสู่กระบวนการสอบเพื่อคัดเลือกผู้แทนศูนย์ร่วมกับนักเรียนคนอื่น

ข้อกำหนดการรับใบประกาศนียบัตร

นักเรียนจะได้รับประกาศนียบัตรรับรองการมาร่วมค่าย เมื่อเข้าร่วมการอบรมไม่น้อยกว่าร้อยละ 80 (ไม่น้อยกว่า 48 ชั่วโมง หรือขาดได้ไม่เกิน 12 ชั่วโมง สำหรับค่าย 1 และไม่น้อยกว่า 72 ชั่วโมง หรือขาดได้ไม่เกิน 18 ชั่วโมงสำหรับค่าย 2) และไม่ขาดการปฐมนิเทศในวันแรกของแต่ละค่าย

ข้อกำหนดการเป็นผู้แทนศูนย์ไปแข่งระดับชาติ

ผู้แทนศูนย์จะต้องสามารถอยู่ร่วมตลอดระยะเวลาที่จัดการแข่งขัน ซึ่งจะจัดในเดือน พ.ค. ของทุกปี โดยจะต้องอยู่ในบริเวณที่พักและพื้นที่จัดการแข่งขันที่เจ้าภาพเตรียมไว้ให้ตลอดระยะเวลา 5 วัน (รุ่นที่ 4 แข่งขันระดับชาติที่ศูนย์ สอวน. มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ประมาณวันที่ 20-24 พ.ค. 2567)

กำหนดการ ประจำปีการศึกษา 2567

สมัครออนไลน์ 5 มิ.ย.- 12 ก.ค. 2567
สอบคัดเลือก 31 ส.ค. 2567
ค่าย1 (11 วัน) 15-25 ต.ค. 2567
ค่าย2 (16 วัน) 18 เม.ย. – 2 พ.ค. 2568
แข่งขันระดับชาติ พ.ค. 2568
แข่งขันระดับโลก ส.ค. 2568

ลิ๊งค์ที่สำคัญ

สมัครเข้าค่ายปีการศึกษา 2567
เปิดระบบ พุธที่ 5 มิ.ย. เวลา 12:00 น.
ปิดระบบ ศุกร์ที่ 12 ก.ค. เวลา 18:00 น.

ประกาศรับสมัคร (PDF) ฉบับแก้ไขวันสอบ

อ่าน/ดาว์นโหลด ประกาศรับสมัครเข้าค่ายปีการศึกษา 2566 ของศูนย์ สอวน. วิทยาศาสตร์โลกและอวกาศ มหาวิทยาลัยขอนแก่น

ระเบียบนี้ใช้กับการสอบคัดเลือกปีการศึกษา 2567 ที่สนามสอบทั้ง 4 แห่ง

รายชื่อผู้มีสิทธิ์เข้าสอบเพื่อรับการคัดเลือกเข้าค่ายปีการศึกษา 2567 (เป็นรายชื่อของผู้ที่มีคุณสมบัติตรงตามข้อกำหนด หรือผ่านการตรวจสอบในเบื้องต้น)
*โปรดสังเกต!!! ลำดับของนักเรียนเรียงตามอักษรของชื่อแรก

ผลการสอบคัดเลือก (PDF)

รายชื่อของนักเรียนจำนวน 50 คนแรกที่ทำคะแนนได้สูงสุด และนักเรียน 10 คนที่อยู่ในลำดับสำรอง
*โปรดสังเกต!!! ลำดับของนักเรียนเรียงตามอักษรของชื่อแรก

รายชื่อสมาชิกรุ่น 5 ค่าย 1 (PDF)

รายชื่อผู้ที่สอบผ่านและยืนยันสิทธิ์การร่วมค่าย
*โปรดสังเกต!!! ลำดับของนักเรียนเรียงตามอักษรของชื่อแรก

ผลการสอบคัดเลือกเข้าค่าย 2 (PDF)

รายชื่อของนักเรียนจำนวน 30 คนแรกที่ทำคะแนนได้สูงสุด และนักเรียน 5 คนที่อยู่ในลำดับสำรอง
*โปรดสังเกต!!! ลำดับของนักเรียนเรียงตามอักษรของชื่อแรก

นักเรียนที่ได้รับประกาศนียบัตรรับรองการเข้าค่ายที่ 1 หรือ ค่ายที่ 1 และ 2 สามารถขอหนังสือรับรองจากสอวน. เพื่อใช้ในการสมัครตรง (รอบ Portfolio) เข้ามหาวิทยาลัยด้วยสิทธิพิเศษตามที่ประกาศโดย สอวน.

หน้าที่รับผิดชอบ

ศูนย์ สอวน. วิชาวิทยาศาสตร์โลกและอวกาศ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จัดตั้งขึ้น ในปี พ.ศ. 2562 ภายใต้การกำกับของ มูลนิธิส่งเสริมโอลิมปิกวิชาการ และพัฒนามาตรฐานวิทยาศาสตร์ศึกษา ในพระอุปถัมภ์สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ (สอวน.) และดำเนินการโดย สาขาวิชาเทคโนโลยีธรณี คณะเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยขอนแก่น โดยมีหน้าที่จัดการอบรมและคัดเลือกนักเรียนผู้แทนในภูมิภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ไปแข่งขันโอลิมปิกวิชาการวิชาวิทยาศาสตร์โลกและอวกาศระดับชาติ (Thailand Earth Science Olympiad, TESO) เพื่อเฟ้นหาผู้แทนประเทศไทยไปแข่งขันโอลิมปิกวิชาการวิชาวิทยาศาสตร์โลกและอวกาศระหว่างประเทศ (International Earth Science Olympiad, IESO)

พื้นที่รับผิดชอบ (20 จังหวัดในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ)
[10 จังหวัด] เลย, กาฬสินธุ์, ขอนแก่น, มหาสารคาม, สกลนคร, หนองคาย, อุดรธานี, ร้อยเอ็ด, หนองบัวลําภู, บึงกาฬ,
[6 จังหวัด] นครพนม, มุกดาหาร, ยโสธร, ศรีสะเกษ, อํานาจเจริญ, อุบลราชธานี
[4 จังหวัด] ชัยภูมิ, นครราชสีมา, บุรีรัมย์, สุรินทร์

ทีมงาน

คณะอาจารย์และเจ้าหน้าที่ของสาขาวิชาเทคโนโลยีธรณี ร่วมกับอาจารย์คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ร่วมกันจัดการอบรม (ค่ายวิชาการ), ออกข้อสอบ, และคัดเลือกนักเรียนที่จะเป็นผู้แทนระดับภูมิภาค

หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

ในปัจจุบัน ประเทศไทยมี ศูนย์ สอวน. วิชาวิทยาศาสตร์โลกและอวกาศ ทั้งหมด 7 แห่ง แต่ละศูนย์จะคัดเลือกและส่งตัวแทนจำนวน 6 คน มาแข่งขันกันในระดับชาติ เพื่อหาตัวแทนประเทศไปแข่งในระดับนานาชาติต่อไป

ชื่อศูนย์ สอวน. วิชาวิทยาศาสตร์โลกและอวกาศพื้นที่รับผิดชอบ
1. ศูนย์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (คณะวิทยาศาสตร์)จังหวัดในภาคเหนือ 16 จังหวัด
2. ศูนย์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ (คณะวิทยาศาสตร์)
จังหวัดในภาคกลางตอนบน 9 จังหวัด
จังหวัดในภาคตะวันออก 8 จังหวัด
3. ศูนย์ มหาวิทยาลัยมหิดล วิทยาเขตกาญจนบุรี (สาขาธรณีศาสตร์)จังหวัดในภาคกลางตอนล่าง 9 จังหวัด
4. ศูนย์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่จังหวัดในภาคใต้ 14 จังหวัด
5. ศูนย์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น (คณะเทคโนโลยี)จังหวัดในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 20 จังหวัด
6. ศูนย์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (คณะวิทยาศาสตร์)กรุงเทพมหานคร 1 จังหวัด
7. โรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์ร.ร.มหิดลวิทยานุสรณ์ และ ร.ร.กำเนิดวิทย์

ลิ๊งค์ที่เกี่ยวข้อง

มูลนิธิ สอวน.
International Earth Science Olympiad (IESO)

ผู้แทนศูนย์ฯ ที่เข้าร่วมการแข่งขันโอลิมปิกวิชาการ วิชาวิทยาศาสตร์โลกและอวกาศ ระดับชาติ (Thailand Earth Science Olympiad, TESO)

รุ่น 1 (1 เหรียญเงิน, 2 เหรียญทองแดง)

ปีการศึกษา 2563 เข้าแข่งขัน TESO ครั้งที่ 1 ที่มหาวิทยาลัยมหิดล วิทยาเขตกาญจนบุรี

นางสาวณัฐนรี เจือจันทร์
นางสาวณัฐนรี เจือจันทร์

โรงเรียนสิรินธร จ.สุรินทร์

นายชินติสรรค์ โชติจิระอนันต์
นายชินติสรรค์ โชติจิระอนันต์

โรงเรียนสุรวิวัฒน์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี จ.นครราชสีมา

นางสาวปิติภัทร เป็นตามวา
นางสาวปิติภัทร เป็นตามวา

โรงเรียนสุรวิวัฒน์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี จ.นครราชสีมา

รุ่น 2 (6 เหรียญทองแดง)

ปีการศึกษา 2564 เข้าแข่งขัน TESO ครั้งที่ 2 ที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

กฤตภาส หินเธาว์
กฤตภาส หินเธาว์

โรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยขอนแก่น ฝ่ายมัธยมศึกษา (ศึกษาศาสตร์) จ.ขอนแก่น

นิโรจน์ ดวงแก้ว
นิโรจน์ ดวงแก้ว

โรงเรียนกุสุมาลย์วิทยาคม จ.สกลนคร

พงศพัฒน์ สุพร
พงศพัฒน์ สุพร

โรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัย จ.เลย

มุจลินท์ โรจน์วัฒนบูลย์
มุจลินท์ โรจน์วัฒนบูลย์

โรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยขอนแก่น ฝ่ายมัธยมศึกษา (มอดินแดง) จ.ขอนแก่น

อาทิตยา มูลดี
อาทิตยา มูลดี

โรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยขอนแก่น ฝ่ายมัธยมศึกษา (ศึกษาศาสตร์) จ.ขอนแก่น

อิงลดา ทองหาว
อิงลดา ทองหาว

โรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัย จ.เลย

รุ่น 3 (2 เหรียญเงิน, 4 เหรียญทองแดง)

ปีการศึกษา 2565 เข้าแข่งขัน TESO ครั้งที่ 3 ที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
ผู้เข้าแข่งขันทั้งหมด 42 คน จากศูนย์ สอวน. 7 ศูนย์ทั่วประเทศ

นิโรจน์ ดวงแก้ว(เวฟ)
นิโรจน์ ดวงแก้ว
(เวฟ)

โรงเรียนกุสุมาลย์วิทยาคม จ.สกลนคร

สิรวิชญ์ ศรีมหาพรหม(พู่กัน)
สิรวิชญ์ ศรีมหาพรหม
(พู่กัน)

โรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัยบุรีรัมย์ จ.บุรีรัมย์

กฤตภาส หินเธาว์(มิ้งค์)
กฤตภาส หินเธาว์
(มิ้งค์)

โรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยขอนแก่น ฝ่ายมัธยมศึกษา (ศึกษาศาสตร์) จ.ขอนแก่น

พัทธดนย์ สุวรรณไตรย์(ตั้น)
พัทธดนย์ สุวรรณไตรย์
(ตั้น)

โรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณ์ราชวิทยาลัยบุรีรัมย์ จ.บุรีรัมย์

นภ ภัทรรุ่งนิรันดร(แทน)
นภ ภัทรรุ่งนิรันดร
(แทน)

โรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยขอนแก่น ฝ่ายมัธยมศึกษา (มอดินแดง) จ.ขอนแก่น

เอกรัตน์ สวัสดิ์ผล(นัท)
เอกรัตน์ สวัสดิ์ผล
(นัท)

โรงเรียนขอนแก่นวิทยายน จ.ขอนแก่น

รุ่น 4 (2 เหรียญเงิน, 3 เหรียญทองแดง)

ปีการศึกษา 2566 เข้าแข่งขัน TESO ครั้งที่ 4 ที่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
ผู้เข้าแข่งขันทั้งหมด 42 คน จากศูนย์ สอวน. 7 ศูนย์ทั่วประเทศ

วุฒิพงศ์ เทพนอก(มิ๊กซ์)
วุฒิพงศ์ เทพนอก
(มิ๊กซ์)

โรงเรียนราชสีมาวิทยาลัย จ.นครราชสีมา

เอกรัตน์ สวัสดิ์ผล(นัท)
เอกรัตน์ สวัสดิ์ผล
(นัท)

โรงเรียนขอนแก่นวิทยายน จ.ขอนแก่น

ปราชญ์ลาภ พรมตาไก้(ตาต้า)
ปราชญ์ลาภ พรมตาไก้
(ตาต้า)

โรงเรียนเบ็ญจะมะมหาราช จ.อุบลราชธานี

ชุติกาญจน์ วังทะพันธ์(ใบตอง)
ชุติกาญจน์ วังทะพันธ์
(ใบตอง)

โรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัย มุกดาหาร จ.มุกดาหาร

ภูดิท นิ่มมงคล(ฟลุ๊ค)
ภูดิท นิ่มมงคล
(ฟลุ๊ค)

โรงเรียนราชสีมาวิทยาลัย จ.นครราชสีมา

ชัยวัฒน์ ตุลาดิลก(ปั้น)
ชัยวัฒน์ ตุลาดิลก
(ปั้น)

โรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัยบุรีรัมย์ จ.บุรีรัมย์

วิธีติดต่อเราที่ง่ายที่สุดคือ ส่ง ข้อความ/คำถาม หาเราได้ที่ Facebook ศูนย์ สอวน. วิชาวิทยาศาสตร์โลกและอวกาศ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
หรือ email หาเราที่ ieso.kku@gmail.com หรือโทรติดต่อผู้ประสานงาน ผศ.ดร.กฤติกา ตระกูลงาม (อ.ติ้ง) ที่ 090-031-3927

ที่อยู่จัดส่งเอกสาร
ศูนย์ สอวน. วิชาวิทยาศาสตร์โลกและอวกาศ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
สาขาวิชาเทคโนโลยีธรณี คณะเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยขอนแก่น
123 ถ.มิตรภาพ หมู่ 16 ต.ในเมือง
อ.เมือง จ.ขอนแก่น
40002

ศูนย์ สอวน. และสนามสอบคณะเทคโนโลยี

พิกัด แผนที่ Google: 16.47392, 102.82166

ข้อมูลการให้บริการรถบัสฟรี


ดูแผนที่และตารางการให้บริการ


เข้าค่ายนี้ไปทำไม

นักเรียนที่ได้ผ่านการอบรมค่าย สามารถใช้หนังสือรับรองเข้าศึกษาต่อในระดับอุดมศึกษา ที่ออกให้โดยมูลนิธิ สอวน. สำหรับการสมัครเข้าเรียนโดยตรงในรอบ portfolio ในหลักสูตรวิทยาศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาเทคโนโลยีธรณี (ระดับปริญญาตรี) ที่มหาวิทยาลัยขอนแก่น (ดูตัวอย่างประกาศรับสมัครของปีการศึกษา 2566) รวมทั้งอีกหลายหลักสูตรของมหาวิทยาลัยชั้นนำกว่า 30 แห่งทั่วประเทศ (อ่านสิทธิพิเศษสำหรับผู้ผ่านค่าย สอวน.)

มีค่าใช้จ่ายสำหรับการเข้าค่ายมั้ย

ฟรีตลอดค่ายจ้า ผู้ที่ได้รับคัดเลือกให้เข้าค่ายของเราจะได้รับการสนับสนุนค่าใช้จ่าย (กิน, พัก, เดินทาง) ทั้งหมดจาก มูลนิธิ สอวน. โดยมอบเป็นอาหาร (3 มื้อ), อาหารว่าง 2 ครั้ง (เช้าและบ่าย), รถรับส่งจากที่พักไปยังสถานที่อบรม, และที่พักในโรงแรมแบบนอนคู่ นอกจากนี้ นักเรียนยังจะได้รับค่าเดินทางแบบเหมาจ่ายเป็นเงินจำนวน 300 บาท/ค่าย สำหรับเดินทางจากบ้านของนักเรียนมายังที่พักแรมของค่าย

หากจะวางแผนเรื่องการเงิน เราขอแนะนำว่าค่าใช้จ่ายส่วนตัวของนักเรียนที่อาจมีเพิ่ม (ขึ้นกับนักเรียนแต่ละบุคคล) ได้แก่ ค่าบริการซักผ้า และค่าเสื้อค่าย (เสื้อยูนิฟอร์มของค่ายวิทยาศาสตร์โลกและอวกาศ ม.ขอนแก่น ปักชื่อและรุ่น) เป็นต้น

การสมัครและคุณสมบัติของผู้สมัคร

  • ศูนย์มข. มีวิธีการสมัครอย่างไร?
  • ศูนย์ฯ ของเรา ใช้วิธีสมัครแบบ online โดย ให้กรอกข้อมูลและอัพโหลดไฟล์หลักฐานบนเว็บ (link รับสมัครจะประกาศบนเว็บของศูนย์ฯ ในช่วงเวลาที่เปิดรับสมัคร ซึ่งจัดประมาณเดือนสิงหาคมของทุกปี)
  • เอกสารที่ใช้ประกอบการสมัคร มีอะไรบ้าง?
  • เอกสารที่ต้องอัพโหลดประกอบการสมัคร มีทั้งหมด 4 รายการ (เป็นไฟล์รูปภาพ หรือ PDF ขนาดไฟล์ไม่เกิน 1 MB) ดังนี้
    (1) รูปถ่ายชุดนักเรียน ขนาด 1 หรือ 2 นิ้ว
    (2) รูปถ่ายสำเนาบัตรประชาชน รับรองสำเนาถูกต้อง (เฉพาะด้านหน้าของบัตร)
    (3) สำเนา ปพ.1 ระเบียนแสดงผลการเรียน แสดงทั้งด้านหน้าและด้านหลัง รับรองสำเนาถูกต้อง (สามารถแยกเป็น 2 ไฟล์)
    (4) หลักฐานการชำระเงินค่าสมัครสอบ 100 บาท
  • จ่ายค่าสมัครได้ที่ไหน?
  • ท่านสามารถชำระเงินค่าสมัครสอบจำนวน 100 บาท ผ่านทาง QR Code

    ชื่อบัญชี “เงินรายได้ มหาวิทยาลัยขอนแก่น (คณะเทคโนโลยี)”
  • สามารถขอใบเสร็จค่าสมัครสอบได้หรือไม่?
  • นักเรียนไม่ต้องทำเรื่องขอใบเสร็จค่าสมัครสอบเป็นการพิเศษเลย เราจะมอบใบเสร็จให้นักเรียนทุกท่านเมื่อมารายงานตัวเข้าสอบ (ณ สนามสอบที่ตนเลือก) ทั้งนี้ ใบเสร็จดังกล่าว จะระบุชื่อของนักเรียนและที่อยู่ตามที่นักเรียนกรอกในระบบสมัครออนไลน์ ในกรณีที่นักเรียนไม่มีสิทธิ์สอบเนื่องจากขาดคุณสมบัติหรือเอกสารการสมัครไม่ครบ นักเรียนก็สามารถรับใบเสร็จได้ที่สนามสอบที่ตนเลือกไว้เช่นกัน
  • ปพ. 1 ที่ใช้ต้องเป็นของระดับชั้นไหน?
  • ใช้ ปพ.1 ที่แสดงผลการเรียนถึงระดับชั้นล่าสุดที่สำเร็จการศึกษาค่ะ
    ถ้าน้องอยู่ ม.3 ต้องใช้ ปพ.1 ของระดับชั้นมัธยมต้น ซึ่งแสดงผลการเรียนของ ม.1 และ ม.2
    ถ้าน้องอยู่ ม.4 ต้องใช้ ปพ.1 ของระดับชั้นมัธยมต้น ซึ่งแสดงผลการเรียนของ ม.1 – ม.3
    ถ้าน้องอยู่ ม.5 ต้องใช้ ปพ.1 ของระดับชั้นมัธยมปลาย ซึ่งแสดงผลการเรียนของม. 4
  • สามารถใช้ ปพ. 1 ที่ดาวน์โหลดจากระบบ SGS หรือออกอย่างไม่เป็นทางการ (เป็นเอกสาร “Unofficial”) ได้หรือไม่?
  • ได้เฉพาะในขั้นตอนการสมัครค่ะ ถ้านักเรียนได้รับคัดเลือกให้เข้าร่วมค่ายโอลิมปิกวิชาการ นักเรียนจะต้องส่งสำเนาของฉบับที่โรงเรียนออกให้อย่างเป็นทางการ (พร้อมลงนามรับรองสำเนาถูกต้อง) เพื่อใช้ในการยืนยันสิทธิ์เข้าค่ายค่ะ (โปรดดูกำหนดการวันที่ต้องยืนยันสิทธิ์ บนเว็บหน้าหลัก)
  • เกรดเฉลี่ยรายวิชาพื้นฐานกลุ่มสาระการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ คำนวณอย่างไร?
  • ไม่ต้องคำนวณเองนะคะ อ่านค่าซึ่งแสดงไว้บนด้านหลังของ ปพ.1 ได้เลย (ดูตัวอย่าง)
  • หากพบว่านักเรียนขาดคุณสมบัติ (ตามเงื่อนไขในประกาศรับสมัคร) หรือส่งเอกสารการสมัครไม่ครบ จะคืนเงินค่าสมัครให้มั้ย?
  • ต้องขออภัยด้วย เราไม่คืนเงินค่าสมัครสอบในกรณีที่เป็นความผิดพลาดของผู้สมัคร ดังนั้นขอให้ผู้สมัครตรวจสอบคุณสมบัติของตนเองให้ถ้วนถี่ก่อนที่จะทำการชำระเงิน รวมทั้งส่งเอกสารการสมัครให้ครบถ้วน
  • ทำไมต้องจำกัดอายุผู้สมัคร?
  • เราจำเป็นต้องจำกัดอายุของผู้สมัคร เพราะกฎของนานาชาติกำหนดว่า ผู้ที่เป็นตัวแทนประเทศไปแข่งโอลิมปิกวิชาวิทยาศาสตร์โลกและอวกาศระหว่างประเทศ (International Earth Science Olympiad, IESO) จะต้องไม่เกิดก่อนวันที่ 1 ก.ค. X-19 โดยที่ X คือปีที่ทำการแข่งขันโอลิมปิกนานาชาติ ตามที่กำหนดไว้ใน ธรรมนูญของ IESO (STATUTES OF THE INTERNATIONAL EARTH SCIENCE OLYMPIAD (Version 4, Published: November 1, 2016)
  • ทำไมอยู่ ม.6 แล้ว สมัครไม่ได้?
  • ผู้สมัครที่เรียนอยู่ม. 6 จะไม่สามารถสมัครได้ แม้ว่าจะมีอายุไม่เกินเกณฑ์ เพราะหากนักเรียนได้เป็นผู้แทนไปแข่งระดับนานาชาติ ซึ่งจัดในเดือนสิงหาคมของปีถัดไป ผู้สมัครจะจบการศึกษาขั้นพื้นฐานแล้ว ซึ่งจะผิดระเบียบของ สอวน.
  • อีเมล์ยืนยันความสำเร็จของการสมัครจะมีหน้าตาอย่างไร?
  • ดูตัวอย่างอีเมล์ที่ได้รับในโทรศัพท์ Android ที่ใช้ภาษาไทย
    ดูตัวอย่างอีเมล์ที่ได้รับในคอมพิวเตอร์ ที่ใช้ภาษาอังกฤษ

การสอบและยืนยันสิทธิ์เข้าค่าย

  • สนามสอบสำหรับคัดเลือกเข้าค่าย 1 มีที่ไหนบ้าง?
  • นักเรียนสามารถเลือกสอบได้ 4 แห่ง ดังนี้ (กรุณาตรวจสอบรายละเอียดการสมัครสอบที่ประกาศอย่างเป็นทางการ)
    (1) คณะเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยขอนแก่น จ.ขอนแก่น
    (2) โรงเรียนราชสีมาวิทยาลัย จ.นครราชสีมา
    (3) โรงเรียนสกลราชวิทยานุกูล จ.สกลนคร
    (4) โรงเรียนเบ็ญจะมะมหาราช จ.อุบลราชธานี
  • ถ้าโรงเรียนอยู่ในจังหวัดอุบลราชธานี จำเป็นต้องเลือกสอบที่สนามในจังหวัดอุบลราชธานีหรือไม่?
  • ไม่จำเป็นเลยค่ะ นักเรียนสามารถเลือกสอบที่สนามใดก็ได้ที่สะดวกสำหรับตัวนักเรียนหรือผู้ปกครอง
  • ขอดูผลคะแนนสอบได้หรือไม่?
  • ขออภัยด้วย ระเบียบของศูนย์ไม่อนุญาตให้เราเปิดเผยคะแนนสอบของนักเรียน
  • ศูนย์ใช้เกณฑ์อะไรในการคัดเลือกนักเรียนเข้าค่าย?
  • ทั้งลำดับจริงและลำดับสำรอง เราพิจารณาจากคะแนนสอบเท่านั้น สำหรับค่ายที่ 1 เราใช้คะแนนสูงสุด 50 คนแรกสำหรับลำดับจริง (นับรวมนักเรียนที่เคยเป็นผู้แทนศูนย์ที่ได้รับการยกเว้นการสอบคัดเลือก) และเรียกลำดับสำรองที่มีคะแนนเป็นคนที่ 51 เป็นต้นไปกรณีที่มีการสละสิทธิ์ สำหรับค่ายที่ 2 เราใช้คะแนนสูงสุด 30 คนแรก (นับรวมนักเรียนที่เคยเป็นผู้แทนศูนย์ที่ได้รับการยกเว้นการสอบคัดเลือก) และเรียกลำดับสำรองที่มีคะแนนเป็นคนที่ 31 เป็นต้นไปกรณีที่มีการสละสิทธิ์ ทั้งนี้ กรณีที่มีนักเรียนคะแนนซ้ำกัน เราจะพิจารณาจากเกณฑ์ต่อไปนี้ตามลำดับ
    1. เลือกนักเรียนที่อยู่ชั้นเรียนต่ำที่สุด (หากนักเรียน ม.3 มีคะแนนเท่ากับ นักเรียน ม.5 แสดงว่ามีความสามารถสูงกว่า)
    2. เลือกนักเรียนที่ส่งเอกสารครบ (แสดงถึงการวางแผนและเตรียมพร้อมที่ดีกว่า)
    3. เลือกนักเรียนที่ส่งใบสมัครเข้ามาก่อน (แสดงถึงความสนใจที่มีมากกว่า)
  • เกรดจากที่โรงเรียนมีผลต่อการคัดเลือกหรือไม่?
  • เกรดไม่มีผลต่อการคัดเลือกเลยค่ะ เราพิจารณาจากคะแนนสอบเท่านั้น
  • ถ้าโรงเรียนออก ปพ.1 ฉบับเป็นทางการให้ไม่ทันสำหรับใช้ยืนยันสิทธิ์ นักเรียนจะถูกตัดสิทธิ์หรือไม่?
  • อย่าเพิ่งกังวลค่ะ ถ้านักเรียนสามารถส่งฉบับไม่เป็นทางการซึ่งเป็นฉบับล่าสุดและมีข้อมูลไม่ต่างจากฉบับที่เป็นทางการที่โรงเรียนกำลังดำเนินการออกให้ นักเรียนสามารถส่งฉบับไม่เป็นทางการมายืนยันสิทธิ์ก่อน แล้วค่อยถือสำเนาของปพ.1 ฉบับเป็นทางการ มาส่งในวันแรกที่เข้าค่าย
  • ถ้ายืนยันสิทธิ์เข้าร่วมค่าย เเล้วไม่ไปเข้าค่ายจะส่งผลอะไรไหม?
  • ถ้านักเรียนยืนยันสิทธิ์ว่าจะร่วมค่ายกับเรา แล้วเปลี่ยนใจไม่มาร่วมในภายหลัง จะส่งผลต่อนักเรียนคนอื่นที่เสียโอกาสใช้สิทธิ์อันนี้ค่ะ ดังนั้น ถ้านักเรียนไม่แน่ใจว่าจะสามารถเข้าร่วมได้ตลอดทั้งค่าย เราแนะนำให้สละสิทธิ์เพื่อให้นักเรียนท่านอื่นดีกว่า

การเข้าค่ายและพักแรม

  • ต้องแต่งกายอย่างไร?
  • ช่วงเวลาที่เข้าอบรม (9.00-16.00) ที่คณะเทคโนโลยี นักเรียนสามารถใส่ชุดพละหรือชุดนักเรียนก็ได้ ส่วนช่วงเวลาส่วนตัวก็ใส่ชุดลำลองตามสบาย สำหรับ 3 วันที่ต้องออกสนามในค่าย 2 นั้น เราแนะนำให้นักเรียนใส่ชุดพละและรองเท้าผ้าใบเพื่อความคล่องตัว
  • นักเรียนจะได้รับการจัดสรรให้พักที่ไหน? เดินทางอย่างไร?
  • นักเรียนจะได้พักในโรงแรมแบบนอนคู่ (สำหรับค่าย 1 ปีการศึกษา 2566 นักเรียนจะได้พักที่ โรงแรม BAYASITA) และมีรถรับส่งจากที่พักไปและกลับจากมหาวิทยาลัยขอนแก่น
  • นักเรียนมีรูมเมทหรือไม่และเลือกเองได้มั้ย?
  • เจ้าหน้าที่ของโรงแรมจะจัดผู้เข้าพักแยกหญิงชาย โดยจับคู่ให้ตามลำดับที่มาเข้าเช็คอิน ถ้านักเรียนคู่ใดต้องการเป็นรูมเมท เราแนะนำให้นักเรียนคู่นั้น เข้าเช็คอินที่โรงแรมพร้อมกัน
  • ที่พักมีความปลอดภัยแค่ไหน?
  • การพักแรมของทุกค่าย จะมีอาจารย์และพี่เลี้ยงทีมพักแรม (พี่นักศึกษาระดับป.ตรี หรือ ป.โท) ซึ่งประกอบด้วยผู้หญิงอย่างน้อย 1 คน และผู้ชายอย่างน้อย 1 คน เข้าพักแรมในสถานที่เดียวกันกับนักเรียนตลอดระยะเวลาที่จัดค่าย เพื่อดูแลความเรียบร้อยและให้ความช่วยเหลือในทุกเรื่อง ทั้งระหว่างเดินทางบนรถบัส และระหว่างที่อยู่ที่โรงแรม ตั้งแต่ 16:00 น. จนถึง 9:00 น. ของเช้าวันถัดไป (ส่วนช่วงเวลา 9:00-16:00 น. ที่เข้าอบรมนั้น นักเรียนจะอยู่ภายใต้การดูแลของอาจารย์ประสานงานของศูนย์, staff ของศูนย์, และวิทยากรของแต่ละหัวข้อ) ดังนั้นนักเรียนรวมทั้งผู้ปกครองจะสามารถติดต่อทีมพี่เลี้ยงได้ตลอด 24/7 และสามารถสบายใจได้ว่าบุตรหลานของท่านจะได้รับการดูแลเป็นอย่างดี
  • มีระเบียบการเข้าออกที่พักหรือไม่? และผู้ปกครองสามารถมาพบได้หรือไม่?
  • นักเรียนสามารถจะออกจากพื้นที่ของโรงแรมได้ กรณีที่มีผู้ปกครองมารับออกไปเท่านั้น โดยนักเรียนหรือผู้ปกครองจะต้องแจ้งให้พี่เลี้ยง (ซึ่งพักอยู่ที่โรงแรมกับนักเรียนตลอดค่าย) ทราบและได้รับอนุญาตก่อนเพื่อความปลอดภัยของนักเรียนเอง อย่างไรก็ตาม หากนักเรียนไม่ออกนอกพื้นที่ของโรงแรม (เช่น อยู่ที่ห้องพัก ห้องอาหาร หรืออยู่บริเวณ Lobby) นักเรียนสามารถพบกับเพื่อนหรือผู้ปกครองได้ตลอดเวลาโดยไม่ต้องแจ้งหรือขออนุญาตพี่เลี้ยงล่วงหน้า
  • ห้องพักในโรงแรมจะพื้นที่สำหรับตากผ้ามั้ย?
  • มีความเป็นไปได้สูงว่าโรงแรมที่เข้าพักจะไม่มีพื้นที่สำหรับตากผ้า และหากในบริเวณใกล้เคียง (ในระยะที่เดินเท้า) ไม่มีตู้ซักผ้าแบบหยอดเหรียญ เราจะประสานงานกับร้านซักรีด (นอกโรงแรม) เพื่อรับ-ส่ง ซักผ้าในราคาที่เป็นกันเอง